แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน150วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา69แห่งประมวลรัษฎากรและการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา23ชอบแล้วเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีโจทก์ตามมาตรา24หรือมาตรา71(1)แล้วแต่กรณีโดยถือตามแนวทางปฎิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ป.5/2527ลงวันที่20พฤศจิกายน2527ข้อ3แม้คำสั่งดังกล่าวจะมิใช่กฎหมายแต่ก็เป็นแนวทางปฎิบัติสำหรับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา71(1)สำหรับกรณีของโจทก์ปรากฎว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี2533โจทก์ไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเนื่องจากขาดทุนเจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีเงินได้ตามมาตรา71(1)ซึ่งได้ภาษีมากกว่าตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การประเมินคำและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 ของโจทก์น่าเชื่อว่าโจทก์ยื่นชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้องจึงได้ออกหมายเรียกเพื่อทำการตรวจสอบ จากการตรวจสอบปรากฎว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 จึงได้ออกหมายเรียกเพื่อทำการตรวจสอบภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จึงถูกเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71 (1)แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายเป็นเงินภาษีพร้อมเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น 3,041,067 บาทโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรหรือมิได้ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17หรือมาตรา 68 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19หรือมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536จึงเป็นเวลาล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้โจทก์อ้างว่าได้นำแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2533ไปยื่นต่อเจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2534 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะแบบ ภ.ง.ด. 50 ที่โจทก์อ้างว่าได้นำไปยื่นต่อเจ้าพนักงานนั้น ยังทำบัญชีและงบดุลไม่แล้วเสร็จ ไม่มีผู้ตรวจสอบบัญชีลงลายมือชื่อรับรองจึงเป็นกรณีที่ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีทั้งไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานได้รับไว้อันจะถือได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ยื่นแบบรายการไว้แล้วเพียงแต่รายการไม่ถูกต้องดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตาม มาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากรและการส่งหมายเรียกมิได้ปฎิบัติตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 จึงได้ออกหมายเรียกเลขที่ 33/2536 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 เอกสารหมาย ล. 1/3เพื่อตรวจสอบภาษีของโจทก์ ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามมาตรา 23,87 ตรีและมาตรา 123 แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นบัญญัติที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการออกหมายเรียกในกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 แม้จะปรากฎว่าโจทก์ได้รับหมายเรียกหลังจากโจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 แล้ว 1 วัน ก็หาเป็นการออกหมายเรียกภายหลังโจทก์ยื่นแบบรายการและเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 23แห่งประมวลรัษฎากรไม่ ส่วนบทบัญญัติมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรก็เป็นเพียงวิธีการส่งหมายเรียกในทางปฎิบัติ ซึ่งเมื่อได้ปฎิบัติตามวิธีการนั้นแล้วให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้วเท่านั้นเมื่อนายวิชัย นภารัศมีกรรมการผู้จัดการโจทก์เป็นผู้รับหมายเรียกดังกล่าวไว้ จึงถือได้ว่า การส่งหมายเรียกโจทก์ได้รับแล้วโดยชอบ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จึงล่วงพ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้จะได้นำส่งเอกสารต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานในเวลาต่อมาก็เป็นเพียงทำให้เจ้าพนักงานประเมินสามารถตรวจสอบและคำนวณภาษีได้ถูกต้องเท่านั้น ทั้งกรณีมิใช่เพราะเหตุที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลมามอบให้ตามหมายเรียกและเพียงพอแก่การตรวจสอบเพื่อหากำไรสุทธิแล้ว อันจะทำให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรไม่ได้ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวมา จึงไม่อาจลบล้างอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร และการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 23แห่งประมวลรัษฎากรชอบแล้วเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีโจทก์ตามมาตรา 24 หรือมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วแต่กรณีโดยถือแนวทางปฎิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.5/2527ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 ข้อ 3 แม้คำสั่งดังกล่าวจะมิใช่กฎหมาย แต่ก็เป็นแนวทางปฎิบัติสำหรับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีของโจทก์ปรากฎว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 โจทก์ไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะต้องชำระเนื่องจากขาดทุน เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีเงินได้ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งได้ภาษีมากกว่าตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน