แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องเริ่มนับวันที่ปิดประกาศคำสั่งเป็นวันแรกของการนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง
ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบัญญัติให้ศาลต้องแสดงเหตุผลเมื่อไม่ลดโทษให้ผู้กระทำความผิด ทั้งการที่ศาลชั้นต้นไม่ระบุเหตุผลอาจเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือเห็นว่าไม่สมควรลดโทษในส่วนโทษปรับรายวันให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ฉะนั้น การที่ศาลไม่ได้ลดโทษปรับรายวันให้จำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเหตุผล จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีโดยไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 78
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 39 ทวิ, 40, 41, 42, 66 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงดังกล่าวและปรับจำเลยทั้งสองรายวันนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2556 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 40,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลง และให้ปรับจำเลยทั้งสองรายวัน วันละ 200 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2556 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลง ส่วนโทษปรับและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบว่าอาคารเลขที่ 1032/233 ซอยพหลโยธิน 18/1 ที่เกิดเหตุมีการดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งแจ้งให้ระงับการดัดแปลงอาคาร ห้ามใช้หรือเข้าไปในอาคารส่วนที่ดัดแปลงดังกล่าว และมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารหรือดำเนินการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ แล้ว จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน 30 วัน ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นส่งคำสั่งดังกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังจำเลยทั้งสองและปิดประกาศคำสั่งไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 จำเลยทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคาร มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนโทษปรับรายวันนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปนั้น เกินกว่าที่โจทก์กล่าวในฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้รื้อถอนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 จำเลยทั้งสองต้องรื้อถอนอาคารภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยอาจรื้อถอนได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป จำเลยทั้งสองต้องเสียค่าปรับรายวันตั้งแต่วันดังกล่าว เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มการปิดประกาศคำสั่งซึ่งต้องนับวันดังกล่าวเป็นวันแรกของการนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง คดีนี้เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน 30 วัน โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับและปิดคำสั่งไว้ที่เปิดเผย และเห็นได้ง่าย ณ อาคารที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ปิดประกาศคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 จึงต้องนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นวันแรกของการปิดประกาศคำสั่งจึงพ้นกำหนดสามวันในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ตามบทบัญญัติในมาตรา 47 ทวิ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่จำเลยผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งแล้ว จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง โดยต้องเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปตามบทบัญญัติมาตรา 193/3 วรรคสอง และจะครบกำหนดสามสิบวันในวันที่ 25 ธันวาคม 2556 เมื่อจำเลยมิได้รื้อถอนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและต้องชำระค่าปรับรายวันนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันล่วงพ้นระยะเวลา 30 วันเป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับรายวัน นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบแล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้รื้อถอนอาคารที่ดัดแปลง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชำระค่าปรับรายวันอันเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนอาคารอีกนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีทั้งบทบัญญัติที่เป็นส่วนแพ่งและส่วนอาญา สำหรับคำขอของโจทก์ที่ให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารเป็นคำขอในส่วนแพ่ง ในส่วนที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, 62 ทวิ เป็นคำฟ้องในส่วนที่ขอให้ลงโทษทางอาญา ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำขอของโจทก์ในส่วนแพ่งไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, 66 ทวิ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับโทษตามมาตรา 66 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษที่ให้ลงโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรา 42 ต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยทั้งสองจะอ้างคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกคำขอในส่วนแพ่งมาเป็นเหตุไม่ต้องรับโทษทางอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว หาได้ไม่
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่ลดโทษปรับรายวันให้แก่จำเลยทั้งสองโดยไม่ให้เหตุผลเป็นการพิพากษาคดีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบัญญัติให้ศาลต้องแสดงเหตุผลเมื่อไม่ลดโทษให้ผู้กระทำความผิด ทั้งการที่ศาลชั้นต้นไม่ระบุเหตุผลอาจเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือเห็นว่าไม่สมควรลดโทษในส่วนโทษปรับรายวันให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ฉะนั้น การที่ศาลไม่ได้ลดโทษปรับรายวันให้จำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเหตุผล จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้นล้วนฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า การกำหนดโทษปรับและโทษปรับรายวันในคดีนี้ควรเป็นไปในทางเดียวกับคดีอื่น โดยอ้างคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีอื่นในความผิดฐานเดียวกับคดีนี้ซึ่งพิพากษาลงโทษปรับ 10,000 บาท และลงโทษปรับรายวัน วันละ 50 บาท หลังลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วเป็นแนวทางในการกำหนดโทษปรับและโทษปรับรายวันในคดีนี้นั้น เห็นว่า ฎีกา ของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นลงโทษปรับจำเลยทั้งสองสถานเดียวโดยไม่ลงโทษจำคุก เท่ากับจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ไม่ลงโทษจำคุกเพียงประการเดียว มิได้อุทธรณ์ขอให้กำหนดโทษปรับและโทษปรับรายวันเบาลงด้วย แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีอื่นมาในอุทธรณ์ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนโทษปรับและโทษปรับรายวัน ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้องคดีประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ต้องเป็นกรณีที่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218 มาตรา 219 และมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การบังคับคดีในส่วนค่าปรับรายวันไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับวันละ 200 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นต้องบังคับคดีให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับรวมกันวันละ 200 บาท มิใช่คนละ 200 บาท การที่ศาลชั้นต้นบังคับคดีโดยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับรายวันคนละ 200 บาท จึงเป็นการบังคับคดีเกินไปกว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น เห็นว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวนี้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าพิพากษาคดีไม่ถูกต้องแต่ประการใดจึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยทั้งสองเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีตามคำพิพากษาไม่ถูกต้องตามคำพิพากษา ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยทั้งสองจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยทั้งสองยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน
พิพากษายืน