คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลการบริหารของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารราชการ และพนักงานส่วนตำบลเป็นผู้ทำงานประจำ โดยมีปลัดและรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหัวหน้างานบริหารราชการประจำ เมื่อพิจารณาว่าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นระบบบริหารราชการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหารให้แก่หน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการส่วนกลางจัดทำบริการสาธารณะภายในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จึงเห็นได้ว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้าง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงต้องระวางโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100
คำสั่งขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้างว่า ให้ไล่จำเลยออกจากราชการ แม้ระบุว่าคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป ก็เป็นเรื่องการออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลัง ไม่ได้หมายความว่า ในวันที่จำเลยกระทำความผิดคือวันที่ 20 สิงหาคม 2556 จำเลยไม่เป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด
ในวันเกิดเหตุ ธ. ว. และ ส. อยู่ในห้องพักเกิดเหตุกับจำเลย จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้เสพ ตามบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสามดังกล่าวและตามฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามต่างวาระกัน แต่ฟังได้ว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามเสพในคราวเดียวกัน โดยมีเจตนาเดียว การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นการกระทำหลายกรรมไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบเมทแอมเฟตามีนและลงโทษจำเลยหนักเป็นสามเท่า
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีเมทแอมเฟตามีน 21 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เสพเมทแอมเฟตามีน พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร แต่ปฏิเสธข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและปฏิเสธว่ามิได้เป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง, 100 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยเป็นพนักงานส่วนตำบล อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้ระวางโทษสามเท่าในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 12 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกกระทงละ 12 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 36 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 21 เม็ด และให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 24 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 30 ปี 3 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี ลดโทษหนึ่งในสาม เป็นจำคุก 6 ปี 24 เดือน ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร ลงโทษปรับ 1,000 บาท สถานเดียว ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงปรับ 500 บาท รวมจำคุก 8 ปี 24 เดือน และปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐ ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไม่ได้ให้ความหมาย “หน่วยงานของรัฐ” ไว้ จึงต้องตีความตามความหมายทั่วไป ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้ (1) ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง (2) ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค (3) ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 70 บัญญัติว่า ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ดังนี้ (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (2) เทศบาล (3) สุขาภิบาล (4) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 องค์การบริหารส่วนตำบลมีโครงสร้างประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลการบริหารของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล และมีพนักงานส่วนตำบลเป็นผู้ทำงานประจำ โดยมีปลัดและรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหัวหน้างานบริหารราชการประจำ เมื่อพิจารณาว่าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นระบบบริหารราชการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหารให้แก่หน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการส่วนกลางจัดทำบริการสาธารณะภายในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จึงเห็นได้ว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ จำเลยเป็นนักวิชาการเงินและบัญชี ซึ่งโจทก์มีนางชนานาถ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้างเบิกความว่า จำเลยรับราชการในตำแหน่งนักวิชาการเงินและบัญชี ระดับ 5 องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้าง จำเลยเองก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้าง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงต้องระวางโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 ที่จำเลยแก้ฎีกาว่าจำเลยพ้นสภาพจากการเป็นข้าราชการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ก่อนจำเลยกระทำความผิดนั้น เห็นว่า ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้างที่ 69/2557 เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ ไล่จำเลยออกจากราชการ โดยสั่ง ณ วันที่ 18 มีนาคม 2557 แม้ระบุว่าคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป ก็เป็นเรื่องการออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลังไม่ได้หมายความว่า ในวันที่จำเลยกระทำความผิดคือวันที่ 20 สิงหาคม 2556 จำเลยจะไม่เป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด คำแก้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 3 กรรม นั้น ศาลอุทธรณ์ฟังพยานหลักฐานคือคำให้การในชั้นสอบสวนของนายธีรยุทธ นายวีระชัย และนางสาวสาลินี ว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามเสพ เห็นว่า ตามบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสามดังกล่าว บุคคลทั้งสามให้การตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุนายธีรยุทธ นายวีระชัย และนางสาวสาลินี อยู่ในห้องพักเกิดเหตุกับจำเลย จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้เสพ ตามบันทึกคำให้การดังกล่าวและตามฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามต่างวาระกันแต่ฟังได้ว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามเสพในคราวเดียวกัน โดยมีเจตนาเดียว การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นการกระทำหลายกรรมไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุก 12 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นกรรมเดียว ให้จำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จำคุกจำเลย 14 ปี และปรับ 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share