คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง หรือเป็นกรรมการวัด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในวัดบ้านขว้างที่จะมีอำนาจจัดทอดผ้าป่าโดยลำพัง การที่จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งข้อความบนซองผ้าป่าของกลางเป็นการเชิญชวนให้ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดบ้านขว้าง ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะจัดทอดผ้าป่าในนามวัดบ้านขว้างโดยพลการเพราะไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดและไม่ได้ผ่านการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัด เจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้าน ทั้งซองผ้าป่าของกลางที่จัดพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้อื่นไม่มีรอยตราของวัดประทับด้านหลังซอง การจัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าวจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ลักษณะข้อความตามซองผ้าป่าของกลางระบุชัดเจนว่าเป็นการทอดผ้าป่า ณ วัดบ้านขว้าง ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าเป็นซองผ้าป่าที่แท้จริงที่จัดทำขึ้นโดยวัดบ้านขว้าง ทั้งที่ความจริงแล้วทางวัดบ้านขว้างมิได้รับรู้ด้วย หากมีการนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปใช้โดยไม่สุจริตนำออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วไม่นำเงินมาทำบุญที่วัดบ้านขว้างตามที่ระบุในซองผ้าป่า ย่อมเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียชื่อเสียง หรือขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อวัดบ้านขว้างและพระครู ป. เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง แม้ผลของการกระทำจะยังไม่ปรากฏความเสียหายแต่พิจารณาพฤติการณ์ประกอบการกระทำของจำเลยที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยก็น่าจะเกิดความเสียหายได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 264, 268 และริบซองผ้าป่าของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลย 1 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบซองผ้าป่าของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้เถียงในชั้นฎีกาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ได้จัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งมีข้อความส่วนหนึ่งบนซองว่า “ขอเชิญร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อสมทบทุนสร้างกุฏิสงฆ์ ณ วัดบ้านขว้าง ตำบลหนองหนาม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน วันพฤหัสบดีที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ.2558” จำนวน 300 ซอง แล้วนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปแจกจ่ายแก่ผู้อื่น ต่อมามีผู้ได้รับซองผ้าป่าดังกล่าว ซึ่งไม่พบใบฎีกาในซองผ้าป่า สอบถามไปยังไวยาวัจกรของวัดบ้านขว้าง ไวยาวัจกรสอบถามเจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง จึงทราบว่าไม่ได้มีการอนุญาตให้จัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การทำบุญกับวัดสามารถทำได้โดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากวัด จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าโดยมีเจตนาหาเงินสมทบทุนในการสร้างกุฏิภายในวัดบ้านขว้าง จึงเป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางวัดหรือประชาชน ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายทองคำ ไวยาวัจกรวัดบ้านขว้าง พยานโจทก์ และพระครูประภัศร์ศีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง พยานจำเลยว่า ขั้นตอนและรูปแบบที่ถูกต้องในการทำบุญทอดผ้าป่าของวัดบ้านขว้าง ผู้มีเจตนาทำบุญต้องมาปรึกษาขออนุญาตกับเจ้าอาวาสวัด โดยเจ้าอาวาสวัดจะนำเรื่องไปปรึกษากับไวยาวัจกรของวัดและสภาชาวบ้านของวัด กับมีการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัด เจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน รวมทั้งชาวบ้านเพื่อให้รับทราบและสรุปตกลงกันให้วัดทอดผ้าป่าได้ และในการจัดพิมพ์ซองและ
ใบทอดผ้าป่าต้องมีการประทับตราของวัดด้านหลังซองและใบทอดผ้าป่าซึ่งอยู่ในซองด้วย เห็นว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง หรือเป็นกรรมการวัด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในวัดบ้านขว้างที่จะมีอำนาจจัดทอดผ้าป่าโดยลำพัง การที่จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งข้อความบนซองผ้าป่าของกลางเป็นการเชิญชวนให้ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดบ้านขว้าง ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะจัดทอดผ้าป่าในนามวัดบ้านขว้างโดยพลการเพราะไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดและไม่ได้ผ่านการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัดเจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้าน ทั้งซองผ้าป่าของกลาง
ที่จัดพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้อื่นไม่มีรอยตราของวัดประทับด้านหลังซอง การจัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าวจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ลักษณะข้อความตามซองผ้าป่าของกลางระบุชัดเจนว่าเป็นการทอดผ้าป่า ณ วัดบ้านขว้าง ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าเป็นซองผ้าป่าที่แท้จริงที่จัดทำขึ้นโดยวัดบ้านขว้าง ทั้งที่ความจริงแล้วทางวัดบ้านขว้างมิได้รับรู้ด้วย หากมีการนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปใช้โดยไม่สุจริตนำออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วไม่นำเงินมาทำบุญที่วัดบ้านขว้างตามที่ระบุในซองผ้าป่า ย่อมเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียชื่อเสียง หรือขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อวัดบ้านขว้างและพระครูประภัศร์ศีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง แม้ผลของการกระทำจะยังไม่ปรากฏความเสียหายแต่พิจารณาพฤติการณ์ประกอบการกระทำของจำเลยที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยก็น่าจะเกิดความเสียหายได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share