แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 จะบัญญัติว่า ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา และศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ แต่การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ จะต้องเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมไม่อาจไปยื่นคำร้องในคดีความผิดอื่นของจำเลยทั้งสองที่ไม่ได้เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายได้ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการร่วมกันดัดแปลงขึ้นด้วยการต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
บนที่ว่างด้านหลังเชื่อมต่ออาคารหลังเดิมให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดัดแปลงต่อเติมอาคาร แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องโดยอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอันเป็นคนละข้อหากับที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารมาในคดีนี้ หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยทั้งสองจริงก็ต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 40, 41, 42, 66 ทวิ, 69, 70, 71 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และปรับจำเลยทั้งสองเป็นรายวันนับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันฟ้องรวม 641 วัน และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางวาณียื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารของจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องและพิพากษาว่าจำเลยทั้งสอง
มีความผิดตามฟ้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 69, 70 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 40,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 400 บาท นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันฟ้องรวม 641 วัน เป็นค่าปรับ 256,400 บาท รวมจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 296,400 บาท กับให้ปรับรายวันคนละวันละ 400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสอง
จะรื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วเสร็จ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์
แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 148,200 บาท กับให้ปรับเป็นรายวันคนละวันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วเสร็จ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้
มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และพิพากษาคดีส่วนแพ่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนแพ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 69, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และถึงที่สุดแล้วโดยไม่มีคู่ความอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้าน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะคดีส่วนแพ่งตามฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 จะบัญญัติว่า ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา และศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ แต่การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฯลฯ ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ จะต้องเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมไม่อาจไปยื่นคำร้องในคดีความผิดอื่นของจำเลยทั้งสองที่ไม่ได้เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายได้ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น เลขที่ 22/1, 22/2, 22/3 ถนนประชาอุทิศ ทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการร่วมกันดัดแปลงขึ้นด้วยการต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง 11.8 เมตร ยาว 22 เมตร สูง 8 เมตร บนที่ว่างด้านหลังเชื่อมต่ออาคารหลังเดิมให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดัดแปลงต่อเติมอาคาร แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องโดยอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอันเป็นคนละข้อหากับที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารมาในคดีนี้ หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยทั้งสองจริงก็ต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้พิจารณาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาว่าโจทก์ร่วมมีอำนาจยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องหรืออำนาจร้องขอ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับให้ยกคำร้องในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ