คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า ใบเบิกเงิน และใบกำกับสินค้าและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 845/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกซึ่งมาชำระค่าสินค้า แล้วไม่นำเงินที่รับชำระพร้อมใบเสร็จที่ออกส่งให้แก่ฝ่ายการเงินและไม่ได้นำไปตัดยอดหนี้ให้แก่สมาชิก ในคดีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการปลอมใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สหกรณ์การเกษตรปากพนัง จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นความผิดจำนวน 39 กระทง ให้ลงโทษกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 78 ปี แต่ให้ลงจำคุก 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ข้อหาอื่นให้ยก จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง รวม 16 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 16 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานและลูกจ้างของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จำหน่าย ดูแลและรับผิดชอบสินค้าประเภทน้ำมัน อาหารกุ้งขาว อาหารกุ้งกุลาดำ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่จำหน่าย ดูแล และรับผิดชอบสินค้าประเภทปุ๋ยเคมีและเมล็ดพันธุ์ข้าว จำเลยทั้งสองมีหน้าที่เก็บรักษาเงินที่จำหน่ายสินค้า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า เป็นผู้ออกใบเบิกเงิน และเป็นผู้ออกใบกำกับสินค้า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 845/2552 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า ใบเบิกเงิน และใบกำกับสินค้า และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 845/2552 ของศาลชั้นต้น ได้ความตามคำเบิกความของนายอิมรอน ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ร่วมว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกซึ่งมาชำระค่าสินค้า แล้วไม่นำเงินที่รับชำระพร้อมใบเสร็จที่ออกส่งให้แก่ฝ่ายการเงินและไม่ได้นำไปตัดยอดหนี้ให้แก่สมาชิก จำเลยทั้งสองโดยทุจริตยักยอกเงินที่รับชำระมาไปเป็นของตน รวมทั้งร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม โดยจำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบหักล้างเป็นอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ในคดีดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการปลอมใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 และผู้เสียหายที่ 7 ถึงที่ 11 เบิกความว่า ลายมือชื่อในช่องผู้รับสินค้าในใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า และลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินตามใบเบิกเงินไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าว โดยโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางละออง ผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ร่วมเบิกความว่า พยานเป็นผู้จัดทำหนังสือยืนยันยอดหนี้ให้ผู้เสียหายแต่ละคนมาตรวจดูและให้พูดคุยกับจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงตรงกันจึงให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ปลอมลายมือชื่อดังกล่าว โดยลายมือชื่อที่ปรากฏในช่องผู้รับสินค้าและผู้รับเงินเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายแต่ละคน หรือมิเช่นนั้นก็เป็นลายมือชื่อของบุคคลที่ผู้เสียหายมอบให้มารับสินค้า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือยืนยันยอดหนี้ไม่ใช่เป็นการยอมรับจำนวนหนี้ตามที่ผู้เสียหายแต่ละคนกล่าวอ้าง แต่เป็นเพียงการรับรองว่าจำนวนหนี้ไม่ตรงกัน เห็นว่า หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวของผู้เสียหายแต่ละคนเป็นลายมือชื่อปลอม ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องชำระหนี้ตามใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า และไม่ต้องชำระเงินคืนตามใบเบิกเงิน ผู้เสียหายแต่ละคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ซึ่งจะต้องรับฟังคำเบิกความด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่นางละอองเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ร่วมและเป็นผู้ตรวจพบความผิดปกติในการทำบัญชี นางละอองจึงจัดทำหนังสือยืนยันยอดหนี้ให้สมาชิกของโจทก์ร่วมตรวจดู หากคนใดเห็นว่าจำนวนหนี้ไม่ถูกต้อง ก็ให้ระบุจำนวนหนี้ที่ถูกต้องและให้พูดคุยกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับก็ให้ลงลายมือชื่อไว้ นางละอองเป็นบุคคลภายนอกมิได้มีส่วนได้เสียกับผู้ใด คำเบิกความของนางละอองจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ประกอบกับตามหนังสือยืนยันยอดหนี้มีสมาชิกจำนวนมากที่ระบุว่า ไม่มีหนี้หรือจำนวนหนี้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้เหมือนเช่นกรณีของผู้เสียหายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้พูดคุยกับผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว หากคนไหนที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าหนี้คงเหลือของผู้เสียหายคนนั้นตรงตามที่ผู้เสียหายกล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 จึงลงลายมือชื่อรับรอง หาใช่เป็นการรับรองว่าจำนวนหนี้ไม่ตรงกันดังเช่นที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมในส่วนนี้จึงสอดคล้องต้องกันและรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่า ลายมือชื่อในช่องผู้รับสินค้าและในช่องผู้รับเงินไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้เสียหายแต่ละคนดังกล่าว สำหรับใบเบิกเงินผู้เสียหายที่ 5 ไม่ได้มาเบิกความยืนยันว่า ลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินไม่ใช่ลายมือชื่อของตนเอง เนื่องจากผู้เสียหายที่ 5 ถึงแก่ความตาย โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงพันตำรวจโทชัยยันต์ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 5 เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์คำให้การของพยานแล้วปรากฏว่า ผู้เสียหายที่ 5 ยอมรับว่าลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินในใบเบิกเงินเป็นของตนเอง เพียงแต่โต้แย้งว่ารายการที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือผู้เสียหายที่ 5 ได้คืนอาหารกุ้งขาว 6 กระสอบ ตามรายการที่ 1 เท่านั้น ส่วนรายการที่ 2 ที่ระบุว่า อาหารกุ้งขาว 40 กระสอบ และรายการที่ 3 ที่ระบุว่า อาหารกุ้งดำ 19 กระสอบนั้นไม่ถูกต้อง โดยนายวิชัยซึ่งเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมเบิกความว่า จากการตรวจสอบบัญชีย่อยลูกหนี้การค้าของผู้เสียหายที่ 5 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมเคยจำหน่ายอาหารกุ้งขาว 40 กระสอบ และอาหารกุ้งดำ 19 กระสอบ ให้แก่ผู้เสียหายที่ 5 แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดแสดงให้เห็นว่า ไม่มีการคืนอาหารกุ้งขาว 40 กระสอบ และอาหารกุ้งดำ 19 กระสอบ จริง และเมื่อพิเคราะห์ใบเบิกเงินโดยตลอดแล้วพบว่า มีการเขียนรายการต่างๆ ดังกล่าวพร้อมกัน จำนวนเงินทั้งที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรก็ไม่มีการแก้ไขตกเติมและสอดคล้องกับจำนวนเงินของสินค้าแต่ละรายรวมกัน พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมในส่วนนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมใบเบิกเงิน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานปลอมใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงหนังสือยืนยันยอดหนี้ ลำดับที่ 173 ซึ่งจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองว่าผู้เสียหายที่ 5 ไม่มีหนี้ต่อโจทก์ร่วม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้นำตัวผู้เสียหายที่ 5 เบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในช่องผู้รับสินค้าในใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า ไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 5 เมื่อจำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธว่า มีตัวแทนของผู้เสียหายที่ 5 มารับสินค้าและลงลายมือชื่อไว้แทน จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 5 พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อนี้จึงยังเป็นที่น่าสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดในข้อนี้หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยพิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานปลอมใบเบิกเงิน จำนวน 2 ฉบับ และใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า จำนวน 2 ฉบับ หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีผู้เสียหายที่ 12 เบิกความว่า ลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินตามใบเบิกเงินทั้ง 2 ฉบับ และลายมือชื่อในช่องผู้รับสินค้าตามใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้าฉบับแรก ไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 12 เห็นว่า แม้ผู้เสียหายที่ 12 จะเบิกความยืนยันว่า ลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของตน แต่จำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันเช่นกันว่า ลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 12 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างยืนยันข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกัน มีเหตุอันควรสงสัยว่าฝ่ายใดเบิกความตามความเป็นจริง โดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบสนับสนุนเพิ่มเติมว่า ลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวจะเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ และตามหนังสือยืนยันยอดหนี้ ลำดับที่ 207 จำเลยที่ 1 ก็มิได้ลงลายมือชื่อรับรองยอดหนี้ที่ผู้เสียหายที่ 12 โต้แย้ง จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยในข้อนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 ปลอมใบกำกับสินค้า ทั้ง 17 ฉบับ หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีผู้เสียหายที่ 13 เบิกความว่า ลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบสินค้าตามใบกำกับสินค้า แผ่นที่ 1 ถึงที่ 16 ไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 13 ส่วนแผ่นที่ 17 ไม่มีผู้ลงลายมือชื่อไว้ โดยผู้เสียหายที่ 13 เบิกความว่า ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าตามที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าทั้ง 17 ฉบับ เห็นว่า ตามหนังสือยืนยันยอดหนี้ ลำดับที่ 4 ระบุว่า ณ วันที่ 30 เมษายน 2552 ผู้เสียหายที่ 13 เป็นหนี้โจทก์ร่วม ในส่วนของหนี้การค้าเป็นเงิน 462,752 บาท โดยผู้เสียหายที่ 13 มิได้ยอมรับหรือโต้แย้ง แต่อ้างว่าขอตรวจสอบก่อน ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายที่ 13 เบิกความแต่เพียงว่า ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 374,740 บาท โดยไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ถูกต้องเป็นหนี้จำนวนเท่าใด แต่จำเลยที่ 1 มีรายงานวาระการประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ร่วม ชุดที่ 34 ครั้งที่ 8/2550 วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีผู้เสียหายที่ 13 เป็นประธานกรรมการ โดยในระเบียบวาระที่ 6 เรื่องรับทราบสมาชิกซื้อสินค้าเงินเชื่อประจำเดือนพฤศจิกายน 2550 ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 13 เป็นหนี้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 462,752 บาท โดยผู้เสียหายที่ 13 ได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านยอมรับถึงเอกสาร แสดงให้เห็นว่า ณ วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2550 ผู้เสียหายที่ 13 ยังเป็นหนี้ซื้อสินค้าเงินเชื่ออยู่ 462,752 บาท โดยผู้เสียหายที่ 13 ยอมรับว่านับจากวันดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 13 ไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมอีกเลย ซึ่งจำนวนเงินตรงกับที่ระบุไว้ในหนังสือยืนยันยอดหนี้ ลำดับที่ 4 เมื่อหนี้ตามใบกำกับสินค้ามีจำนวนถึง 17 ฉบับ เป็นหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2550 และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หนี้ตามใบกำกับสินค้าทั้ง 17 ฉบับ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของหนี้ที่ระบุไว้ในรายงานวาระการประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ร่วม และหนี้ตามหนังสือยืนยันยอดหนี้ ลำดับที่ 4 ดังนั้นที่ผู้เสียหายที่ 13 อ้างว่า ยอดหนี้ดังกล่าวไม่ถูกต้องจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อนี้จึงยังมีเหตุควรสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ปลอมใบกำกับสินค้าทั้ง 17 ฉบับ หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า สำเนาใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า และใบเบิกเงินเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ เห็นว่า แม้เอกสารจะเป็นเพียงสำเนา แต่ก็มีข้อความว่ามีผู้ได้รับสินค้าหรือเงินไป จึงเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ โดยไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะต้องเป็นต้นฉบับเท่านั้นจึงจะรับฟังได้ว่าเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ดังนั้นแม้เอกสารดังกล่าวทั้งหมดจะเป็นเพียงสำเนา ก็รับฟังได้ว่าเป็นเอกสารสิทธิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมหรือไม่ เห็นว่า ใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้าในหนึ่งชุดจะมี 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 สีขาว ต้องมอบให้แก่สมาชิกเก็บไว้เป็นหลักฐานและนำไปรับสินค้าจากพนักงานส่งมอบสินค้า ฉบับที่ 2 สีส้ม ฝ่ายการตลาดจะต้องมอบให้แก่ฝ่ายบัญชี ส่วนฉบับที่ 3 ฝ่ายการตลาดจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้จึงมีการนำใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้าฉบับที่ 1 และที่ 2 ไปแสดงต่อพนักงานส่งมอบสินค้าและฝ่ายบัญชี อันเป็นการใช้เอกสารแล้ว ส่วนใบเบิกเงินเมื่อจำเลยที่ 1 จัดทำเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องส่งมอบให้แก่ฝ่ายการเงินเพื่อนำเสนอให้ผู้จัดการของโจทก์ร่วมลงลายมือชื่ออนุมัติ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ปลอมใบเบิกเงินแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ต้องนำใบเบิกเงินปลอมไปแสดงต่อฝ่ายการเงิน จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบเบิกเงินปลอมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะทำงานอยู่ภายในห้องทำงานเดียวกันและต่างมีหน้าที่ขายสินค้า โดยขายสินค้าคนละประเภท และในทางปฏิบัติก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็ตาม แต่ตามใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า จำนวน 16 ฉบับ และใบเบิกเงิน จำนวน 1 ฉบับ มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมกระทำแต่อย่างใด ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 11 ต่างเบิกความยืนยันว่า ในการติดต่อซื้อสินค้าประเภทอาหารกุ้งและน้ำมันดีเซลจะติดต่อกับจำเลยที่ 1 และตามหนังสือยืนยันยอดหนี้ ก็มีเพียงจำเลยที่ 1 ที่ลงลายมือชื่อรับรองจำนวนหนี้ของผู้เสียหายแต่ละคนโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม จำนวน 16 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 16 ปีนั้น ที่ถูกแล้วรวม 17 กระทง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคัดค้าน แต่เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดฐานปลอมใบเบิกเงินและใช้เอกสารปลอม การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงคงเหลือ 16 กระทง แต่เนื่องจากโจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมอีก 22 กระทง จึงเป็นฎีกาที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจจะลงโทษจำคุก 16 ปีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยผล
พิพากษายืน

Share