คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 317 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพรากซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ไปดื่มเบียร์กับ ส. ภริยาจำเลยจนเมาไม่ได้สติ ส. พาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปส่งที่บ้าน แต่ ด. ยายของผู้เสียหายที่ 1 ให้ ส. พาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปเพราะเกรงว่าผู้เสียหายที่ 1 จะถูกลงโทษ ส. จึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปนอนที่แคร่หน้าห้องนอนของจำเลยและ ส. เมื่อจำเลยกลับถึงบ้านเห็นผู้เสียหายที่ 1 นอนหลับอยู่บนแคร่จึงกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมิได้กระทำการอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้ดูแล คงมีแต่เจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น แม้หลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ที่แคร่แล้ว จำเลยจะอุ้มผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปกระทำชำเราในห้องนอนของบุตรสาวจำเลยซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันอีก 2 ครั้ง ก็ไม่เป็นการกระทำที่เป็นการพรากตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเพราะมิได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่อื่นอีก และถือไม่ได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง ส. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนายสายชล ผู้เสียหายที่ 2 ผู้แทนเฉพาะคดี ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 2,000 บาท และค่าเสียหาย 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 202,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 2,000 บาท และค่าเสียหาย 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2556 จนกว่าจำเลยชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 10 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 5 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 3 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 202,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 283 ทวิ วรรคสองด้วย ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหมายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาซึ่งศาลชั้นต้นลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลย 9 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง ส. ผู้เสียหายที่ 1 เกิดวันที่ 21 เมษายน 2544 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 11 ปีเศษ อยู่ในความดูแลของนายสายชล ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ต่างบิดา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน ก่อนเกิดเหตุนางสมนึก ภริยาจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปดื่มเบียร์จนเมาไม่ได้สติ นางสมนึกพาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งที่บ้าน แต่นางดำยายของผู้เสียหายที่ 1 เกรงว่าผู้เสียหายที่ 1 จะถูกนายชื่น ซึ่งเป็นตาลงโทษ จึงให้นางสมนึกพาผู้เสียหายที่ 1 กลับไป นางสมนึกพาผู้เสียหายที่ 1 ไปนอนที่แคร่หน้าห้องนอนในบ้านของตนแล้วไปดื่มสุรากับพวก จำเลยกลับมาถึงบ้านพบผู้เสียหายที่ 1 นอนหลับอยู่บนแคร่จึงกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้วอุ้มผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของบุตรสาว จากนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนสำเร็จความใคร่อีก 2 ครั้ง สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยไม่อุทธรณ์จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจารและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า แม้ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพรากซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ไปดื่มเบียร์กับนางสมนึกภริยาจำเลยจนเมาไม่ได้สติ นางสมนึกพาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปส่งที่บ้าน แต่นางดำยายของผู้เสียหายที่ 1 ให้นางสมนึกพาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปเพราะเกรงว่าผู้เสียหายที่ 1 จะถูกลงโทษ นางสมนึกจึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปนอนที่แคร่หน้าห้องนอนของจำเลยและนางสมนึก เมื่อจำเลยกลับถึงบ้านเห็นผู้เสียหายที่ 1 นอนหลับอยู่บนแคร่จึงกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมิได้กระทำการอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้ดูแล คงมีแต่เจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น แม้หลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ที่แคร่แล้ว จำเลยจะอุ้มผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปกระทำชำเราในห้องนอนของบุตรสาวจำเลยซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันอีก 2 ครั้ง ก็ไม่เป็นการกระทำที่เป็นการพรากตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเพราะมิได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่อื่นอีก และถือไม่ได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจารและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share