คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์ก็ตามแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่อนุญาต หรือจะอนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องย่อมเป็นดุลพินิจของศาลแรงงาน อุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงาน จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้ร่วมกันใช้เงินค่าขายสินค้าของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกไปพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้องระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์แถลงขอถอนฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 คัดค้านการถอนฟ้องศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีจากสารบบความ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์ก็ตามแต่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่อนุญาต หรือจะอนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องย่อมเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3

Share