คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7757/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 241และมาตรา 242 ไม่มีผลเป็นการบังคับว่าในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย โจทก์จะต้องพิสูจน์ด้วยการนำพยานวัตถุมาศาลโจทก์อาจพิสูจน์ความผิดของจำเลยด้วยพยานหลักฐานอื่นที่ไม่ใช่พยานวัตถุได้
โจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยว่า ของกลางที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1โดยอ้างบัญชีของกลางคดีอาญา ซึ่งระบุว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในกระเป๋ากางเกงด้านขวามือของจำเลย และจำเลยลงชื่อรับว่าถูกต้องและเป็นจริงประกอบกับรายงานผลการตรวจพิสูจน์ของกลางว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ชนิดเมทแอมเฟตามีนโจทก์จึงไม่จำต้องนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาศาลอีก
คำฟ้องโจทก์ได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดจากการกระทำนั้น อีกทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนคำร้องขอฝากขังซึ่งระบุรายละเอียดแตกต่างจากคำฟ้อง พนักงานสอบสวนเบิกความว่า เป็นการพิมพ์ผิดพลาด อีกทั้งคำฟ้องจะเคลือบคลุมหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดในคำร้องขอฝากขังแต่ประการใดคำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาว่า การนั่งพิจารณาคดีโดยไม่ครบองค์คณะมีผู้พิพากษาเพียงนายเดียวนั่งพิจารณาจนกระทั่งมีคำพิพากษาจึงให้ผู้พิพากษาอีก 1 คน ที่ไม่ได้นั่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาด้วยชอบหรือไม่ปรากฏว่าทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดี จำเลยทนายจำเลยทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวดีอยู่แล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านตั้งแต่ขณะที่ศาลชั้นต้นกำลังดำเนินกระบวนพิจารณาอยู่ต่อหน้าจำเลย เป็นการละเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในเวลาอันสมควรย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สละสิทธินั้นแล้ว จำเลยจะยกขึ้นโต้แย้งเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาแล้วไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 8 เดือน จำเลยอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นปรับอีกสถานหนึ่งโดยปรับจำเลย8,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ไม่เป็นการเพิ่มโทษแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102ริบของกลาง และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 3402/2540 ของศาลอาญากรุงเทพใต้

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 วางโทษจำคุก1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 เดือนริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 3402/2540ของศาลอาญากรุงเทพใต้ นั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 12,000 บาทลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงปรับจำเลย 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดกับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร จำนวน 24 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด ไว้ในความครอบครอง

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า การฟ้องคดีนี้ต้องมีพยานวัตถุและต้องนำวัตถุพยานของกลางมาศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 241และมาตรา 242 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 241 และมาตรา 242 ไม่มีผลเป็นการบังคับว่า ในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยโจทก์จะต้องพิสูจน์ด้วยพยานวัตถุ โจทก์อาจพิสูจน์ความผิดของจำเลยด้วยพยานหลักฐานอื่นที่ไม่ใช่พยานวัตถุดังที่โจทก์คดีนี้พิสูจน์ความผิดของจำเลยว่า ของกลางที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยอ้างบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งระบุว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1และเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในกระเป๋ากางเกงด้านขวามือของจำเลยและจำเลยลงชื่อรับว่า ถูกต้องและเป็นจริง ประกอบกับรายงานผลการตรวจพิสูจน์ของกลางเอกสารหมาย จ.3 ว่า ของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีน โจทก์จึงไม่จำต้องนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาศาลตามที่จำเลยฎีกา

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยในชั้นฝากขังระบุชื่อผู้ต้องหาว่า นายเจษฎา กู้คุ้มภัย เกิดเหตุที่หน้าบ้านเลขที่ 103/143ถนนเอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานครตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด น้ำหนัก 0.03 กรัม แต่ในคำฟ้องระบุว่านายเจษฎา กู้ประเสริฐ จำเลยสถานที่เกิดเหตุแขวงบางบอนและเมทแอมเฟตามีนน้ำหนัก 0.09 กรัม คำร้องขอฝากขังเป็นเอกสารประกอบคำฟ้อง เมื่อขัดแย้งกับคำฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า เมื่อวันที่ 1กันยายน 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยได้บังอาจมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 1 เม็ด น้ำหนัก 0.09 กรัม โดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 … เหตุเกิดที่แขวงบางบอน เขตบางบอนกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมาย เมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดจากการกระทำนั้น อีกทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ซึ่งระบุรายละเอียดแตกต่างจากคำฟ้องนั้นร้อยตำรวจโทสุรวุฒิพนักงานสอบสวนเบิกความว่า เป็นการพิมพ์ผิดพลาด อีกทั้งคำฟ้องจะเคลือบคลุมหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดในคำร้องขอฝากขังแต่ประการใด คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า การนั่งพิจารณาคดีโดยไม่ครบองค์คณะมีผู้พิพากษาเพียงนายเดียวนั่งพิจารณาจนกระทั่งมีคำพิพากษาจึงให้ผู้พิพากษาอีก 1 คนที่ไม่ได้นั่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 22 และ 23 และจำเลยเพิ่งตรวจพบในชั้นอุทธรณ์นั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 21ธันวาคม 2541 และมีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตลอดมาจนกระทั่งสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายวันที่ 19 มีนาคม 2542โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานจำเลยปากสุดท้ายคือนายกวี กู้ประเสริฐทนายจำเลยเบิกความด้วยตนเอง และตามบันทึกคำพยานทุกปากมีผู้พิพากษาลงชื่อเพียงคนเดียว จำเลยและทนายจำเลยได้ลงชื่อทุกครั้ง ฉะนั้นที่จำเลยฎีกาอ้างว่า เพิ่งตรวจพบว่ามีผู้พิพากษาเพียงคนเดียวนั่งพิจารณาคดีไม่ครบองค์คณะในชั้นอุทธรณ์นั้นฟังไม่ขึ้นเพราะทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดี จำเลย ทนายจำเลยทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวดีอยู่แล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านตั้งแต่ขณะที่ศาลชั้นต้นกำลังดำเนินกระบวนพิจารณาอยู่ต่อหน้าจำเลย เป็นการละเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในเวลาอันสมควรย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สละสิทธินั้นแล้ว จำเลยเพิ่งจะมายกขึ้นโต้แย้งเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาแล้วไม่ได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2517 ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์นายปัญญา เนินลพ จำเลย

ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นปรับอีกสถานหนึ่งโดยปรับจำเลย 8,000 บาท และรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งนั้น ไม่เป็นการเพิ่มโทษแก่จำเลย เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 กำหนดระดับการลงโทษไว้โดยโทษจำคุกอยู่ใน (2) ส่วนโทษปรับอยู่ใน (4) ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับแต่รอการลงโทษจำคุกไว้ โทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงต่ำกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มเติมโทษจำเลย ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2535 ระหว่างนางดนยา หงสกุล โจทก์ นายศุภชัยพิพัฒน์ธนผล จำเลย

พิพากษายืน

Share