คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยและจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัย ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ด้วย การที่จำเลยที่ 2 นำรถที่เอาประกันภัยไปลากจูงรถพ่วงที่ไม่ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 126,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เนื่องจากได้รับชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนจากจำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท แล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และได้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-2061 นครปฐม (รถตัวลาก) ลากจูงรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82-7554 นครปฐม พุ่งชนท้ายรถแท็กซี่ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 55,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยเฉพาะรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-2061 นครปฐม (รถตัวลาก) เท่านั้น ส่วนรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82-7554 นครปฐม ไม่ใช่รถคันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้และตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ระบุเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดไว้ในข้อ 2.11.4 ว่า การประกันภัยตาม ข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับบริษัทด้วย โจทก์และจำเลยที่ 3 ยอมสละประเด็นข้อพิพาทที่มีอยู่ทุกข้อ และแถลงไม่ติดใจสืบพยาน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่เพียงใด

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การใช้รถลากจูงหรือผลักดันรถคันอื่นเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงภัยมากขึ้น และตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.11.4 ระบุว่าการประกันภัยตามข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ด้วย ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ประสงค์จะคุ้มครองถึงกรณีที่มีการใช้รถคันที่เอาประกันภัยไปใช้ลากจูงหรือผลักดันอันทำให้เกิดการเสี่ยงภัยมากขึ้นดังกล่าว นอกเสียจากจะได้มีการเอาประกันภัยรถคันที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันไว้ต่อจำเลยที่ 3 ด้วยข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้รถคันที่เอาประกันภัยไว้ต่อจำเลยที่ 3 ลากจูงรถคันอื่นที่ไม่ได้เอาประกันภัยไว้ต่อ จึงเป็นการผิดเงื่อนไขดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตแห่งความคุ้มครอง จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 43,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2538 อันเป็นวันละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถแท็กซี่ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-2061 นครปฐม ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกที่เอาประกันภัยไว้ดังกล่าวโดยลากจูงรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82-7554 นครปฐม ชนท้ายรถแท็กซี่ของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยและจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยกำหนดถึงการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 3 จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยไว้ในสัญญาหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 การคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่อย่างไรก็ดีในส่วนที่ 2 นี้เองก็ได้กำหนดการยกเว้นความรับผิดไว้หลายประการ โดยมีข้อ 2.11 การยกเว้นทั่วไป การประกันภัยตามข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และ ข้อ 2.3 ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 2.11.4 การใช้ลากจูง หรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับบริษัทด้วย แสดงให้เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 3 ไม่ประสงค์จะคุ้มครองถึงกรณีที่มีการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปลากจูงหรือผลักดันอันทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะให้คุ้มครองถึงส่วนที่ลากจูงก็จะต้องแจ้งความจำนงให้ชัดเจนเพื่อผู้รับประกันภัยจะได้กำหนดเบี้ยประกันให้พอเหมาะกับความเสี่ยงภัยที่มากขึ้นนั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 นำรถที่เอาประกันภัยไปลากจูงรถพ่วงอีกคันหนึ่งจึงเป็นการกระทำที่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยอาศัยสัญญาประกันภัยดังกล่าว แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อันเป็นบุคคลภายนอกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3

Share