คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.แพ่ง ม.144 ห้ามศาลมิให้ดำเนินคดีเรื่องเดิมนั้นต่อไปอีกทั้งคดีหรือเฉพาะประเด็นบางข้อ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ส่วน ม.148 เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องคดีเรื่องใด ศาลตัดสินครั้งหนึ่แล้ว มาฟ้องใหม่ซ้ำอีกไม่ได้
กรณีที่โจทก์ฟ้องแล้วครั้งหนึ่ง ศาล 144,148 ตัดสินแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีก ไม่ใช่เรื่องศาลดำเนินคดีเดิม กรณีไม่เข้า ม.144 คงเป็นปัญหาตาม ม.148 เท่านั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยอ้างว่าภาระจำยอมที่โจทก์อ้างปราศจากรากฐานตาม ก.ม.บังคับจำเลยไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ยืนในข้อที่ยกฟ้องโดยเหตุว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินอันเป็นภาระ+ทรัพย์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยกั้นทางรายนี้ให้แคบลงได้หรือไม่ ดังนี้ ต้องถือตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นคำพิพากษาอันถึงที่สุด โจทก์ฟ้องคดีใหม่นี้โดยฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินด้วยได้ ไม่ต้องห้ามตาม ม.148
โจทก์ได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ.ม.1401 อันอาจใช้ล้อหรือเกวียนและรถยนต์เข้าออกตามทางผ่านที่ดินของจำเลยแล้ว จำเลยกั้นทางให้แคบลงจนใช้ล้อหรือเกวียนและรถยนต์ไม่ได้ย่อมเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมเสื่อมไป ขัดต่อ ม.1390 แม้โจทก์จะยังใช้รถจักรยาน 3 ล้อเข้าออกได้หรือโจทก์ไม่ได้เอาเกวียนเข้าเก็บในที่ดินของโจทก์ก็ไม่เป็นข้อแก้ตัว
โจทก์มีทางเอาเกวียนและรถเจ้าออกทางอื่นได้ แต่ทางนั้นไม่ใช่ทางสาธารณะและโจทก์ยังไม่มีสิทธิเหนือทางนั้น อาจถูกสั่งปิดเสียเมื่อใดก็ได้ ไม่เรียกว่าทางพิพาทหมดประโยชน์แก่โจทก์อันจะทำให้ภาระจำยอมหมดไปตาม ม.1400

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่ดินของโจทก์มีทางกว้าง ๔ เมตร เข้าออกถนนพระราม ๖ ผ่านที่ดินจำเลยที่ ๒ โดยใช้ล้อหรือเกวียนและรถยนต์เข้าออกมา ๔๐ ปีเศษ บัดนี้จำเลยที่ ๑ ทำรั้วลวดหนามปิดกั้นเสีย ๒ เมตร โดยจำเลยที่ ๒ ยินยอมให้ทำเพื่อจะสร้างห้องแถว โจทก์ใช้ล้อเกวียนและรถยนต์เข้าออกไม่ได้ ขอให้ศาลแสดงว่าเป็นภาระจำยอมบังคับให้เปิดทางตามเดิม
จำเลยให้การตัดฟ้องว่าโจทก์ฟ้องซ้ำตาา ม. ๑๔๔,๑๔๘ โจทก์มีทางเข้าออกได้สะดวกสมประโยชน์ของโจทก์แล้ว หากทางพิพาทแคบลงบ้างก็ไม่ใช่เพราะการกระทำของจำเลย โจทก์มีทางเข้าออกทางอื่นได้ ไม่จำต้องใช้หรือเก็บเกวียนในที่ดินโจทก์ โจทก์ไม่มีรถยนต์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่เป็นการฟ้องซ้ำโจทก์ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสื่อมประโยชน์ลงไป แต่โจทก์ขายรถยนต์ไปแล้วความจำเป็นใช้ล้อเกวียนก็มีน้อย โจทก์มีทางอื่นซึ่งใช้ล้อเกวียนและรถยนต์เข้าออกได้ โจทก์ยังเดินทางพิพาทได้ไม่ถึงกับต้องใช้ล้อหรือรถยนต์ในทางพิพาท ภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่โจทก์แล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ยังมีความจำเป็นอาจใช้ล้อเกวียนเข้าออกบรรทุกของ ทางอีกทางหนึ่งไม่ใช่ทางสาธารณะ และโจทก์ยังไม่มีสิทธิในทางนั้น ภาระจำยอมยังไม่หมดประโยชน์แก่โจทก์ พิพากษากลับ ให้จำเลยเปิดทางเท่าเดิม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษว่า ป.วิ.แพ่ง ม.๑๔๔ ห้ามศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิมทั้งคดีหรือในประเด็นบางข้อ ซึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ส่วน ม.๑๔๘ บัญญัติว่าฟ้องครั้งหนึ่งแล้วมาฟ้องอีกไม่ได้ คดีนี้โจทก์มาฟ้องใหม่ ไม่ใช่ศาลดำเนินคดีเดิม จึงไม่เข้า ม.๑๔๔ คงเป็นปัญหาเฉพาะ ม.๑๔๘
คดีเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ผู้เดียว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าภาระจำยอมที่โจทก์อ้างปราศจากรากฐานตามกฎหมาย ไม่เป็นมูลจะอ้างบังคับเอากับจำเลยผู้ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ จึงให้ยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่ใช้เจ้าของที่ดินให้เปิดทางอันเป็นที่ในกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น คงยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อที่ให้ยกฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์อันเป็นคำพิพากษาชั้นที่สุด ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยกั้นทางรายนี้ให้แคบลงได้หรือไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ม.๑๔๘
โจทก์ฟ้องว่าใช้ทางนี้มา ๔๐ ปีเศษ ได้ภาระจำยอม บัดนี้จำเลยปิดกั้นให้แคบลง จำเลยมิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้ภาระจำยอมทางอายุความหรือโจทก์ใช้ทางนั้นเพราะตกอยู่ในที่ล้อม จึงต้องฟังว่าโจทก์ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ไม่จำต้องตกอยู่ในที่ล้อมตาม ป.พ.พ.ม.๑๓๔๙
จำเลยกั้นทางให้แคบลงจนใช้ล้อเกวียนหรือรถยนต์เข้าออกไม่ได้ดังที่โจทก์อาจใช้เข้าออกได้แต่เดิมนั้น เป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดหรือเสื่อมความสะดวกขัดต่อมาตรา ๑๓๙๐ แม้รถสามล้อยังเข้าออกได้พอสมแก่ประโยชน์ของโจทก์และคนเช่าห้องโจทก์ โจทก์มีเกวียนก็เอาเก็บที่อื่นนั้นก็ไม่เป็นข้อแก้ตัว เพราะหากโจทก์ประสงค์จะทำเช่นนั้นเมื่อใด โจทก์ทำไม่ได้แล้ว การกระทำของจำเลยก็เป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป
ส่วนที่โจทก์มีทางเอาเกวียนและรถเข้าออกได้ทางโรงเรียนสัตรีนั้น ทางนี้ไม่ใช่ทางสาธารณะ อาจถูกสั่งปิดเมื่อใดก็ได้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิใช้ทางนั้น ไม่เรียกว่าทางพิพาทหมดประโยชน์แก่โจทก์อันจะทำให้ภาระจำยอมหมดไปตาม มาตรา ๑๔๐๐
พิพากษายืน

Share