แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล อธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนของกรมโจทก์มอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีแทน ดังนี้อากรสำหรับการมอบอำนาจซึ่งกรมโจทก์เป็นฝ่ายที่ต้องเสียจึงเป็นอันไม่ต้องเสียตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 ให้มีหน้าที่และรับผิดชอบโดยตรงในด้านการเงินและทะเบียนยานพาหนะ แต่จำเลยที่ 3 ไม่เคยตรวจตราอย่างใกล้ชิดในการเก็บรักษาเงิน และไม่ดูแลในการนำเงินส่งคลังให้เป็นไปตามระเบียบเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฉวยโอกาสยักยอกเงินของทางราชการไป จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธร ย่อมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบงานในหน่วยราชการที่ตนมีหน้าที่ควบคุมอยู่ แม้จะมอบหมายหน้าที่การเงินให้จำเลยที่ 3 ดูแลแทน จำเลยที่ ก็ยังต้องมีหน้าที่ดูแลมิให้เกิดการเสียหาย เมื่อจำเลยที่ 4 ปล่อยละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการรักษาเงินโดยไม่เก็บรักษากุญแจไว้กับตนกลับมอบให้จำเลยที่ 3 ซึ่งถือกุญแจอยู่อีก 1 ดอกเ เป็นการเปิดช่องให้มีการยักยอกเงินสะดวกขึ้น เมื่อมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่แทนตนก็มิได้ตรวจตราควบคุมดูแลการนำเงินเข้าและออกจากที่เก็บตลอดจนมิได้ตรวจสอบทะเบียบเงินยืมและเร่งรัดให้มีการส่งใบสำคัญหักล้างเงินยืมตามระเบียบจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมใบยืมและเบิกเงินไปโดยผิดระเบียบถึง 29 ครั้ง ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ เมื่อเกิดความเสียหายอันเป็นผลของความประมาทเลินเล่อดังกล่าวจำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญารับรองการยืมเงินปลอมเพื่อยืมเงินทดรองไปราชการในนามจำเลยที่ ๑ จำนวน ๑๒ ฉบับ ในนามของบุคคลอื่น ๑๗ ฉบับ โดยกรอกข้อความอันเป็นเท็จในสัญญารับรองการยืมเงินและปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ ๔ ในช่องผู้อนุมัติ และนำสัญญาดังกล่าวแสดงต่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสมุห์บัญชี กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังยักยอกเงินค่าภาษีรถยนต์ ค่าธรรมเนียมล้อเลื่อนซึ่งโจทก์จัดเก็บมาตามกฎหมายไปโดยฝ่าฝืนระเบียบการรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ใช้เงินบางส่วนคืนโจทก์ คงเหลือเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้คืนโจทก์เป็นเงิน ๓๒๗,๐๔๐ บาท จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๔ ให้รับผิดชอบงานด้านการเงินและทะเบียนยานพาหนะ ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๒ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันยักยอกเงินของโจทก์ส่วนจำเลยที่ ๔ เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริตและควบคุมด้านการเงินให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยักยอกเอาเงินของโจทก์ไป ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การว่าหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและลายมือชื่อจำเลยที่ ๔ ไม่อาจตรวจสอบได้ง่ายฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่โจทก์เป็นเงิน ๓๒๗,๐๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งจำเลยอ้างว่าใบมอบอำนาจไม่ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๒๑ ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๒๗ บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล เจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ บุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐบาล
ฯลฯ
.. อากรเป็นอันไม่ต้องเสีย
” ดังนั้นเมื่อโจทก์คดีนี้เป็นกรมในรัฐบาลอธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนของกรมโจทก์มอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีแทน อากรสำหรับการมอบอำนาจซึ่งกรมโจทก์เป็นฝ่ายที่ต้องเสีย จึงเป็นอันไม่ต้องเสียโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎีกาของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ข้อต่อมาที่ว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๔ ให้มีหน้าที่และรับผิดชอบโดยตรงในด้านการเงินและทะเบียนยานพาหนะ นอกจากจำเลยที่ ๓ จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการเก็บรักษาเงิน กล่าวคือ ไม่เคยตรวจตราอย่างใกล้ชิดในการเก็บรักษาเงินแล้วยังไม่เอาใจใส่ดูแลในการนำเงินส่งคลังให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลังดังกล่าวด้วย นับว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างมาก เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฉวยโอกาสที่จำเลยที่ ๓ ละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวยักยอกเงินของทางราชการไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๔ โดยตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ย่อมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบงานในหน่วยราชการที่ตนมีหน้าที่ควบคุมอยุ่ แม้จะได้มอบหมายหน้าที่การเงินให้จำเลยที่ ๓ ไปดูแลแทน จำเลยที่ ๔ ก็ยังต้องมีหน้าที่ดูแลมิให้เกิดความเสียหาย ได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจตรีบัวศรี จิตรปลื้ม และนายดาบตำรวจสมพงษ์ เดชพร เจ้าหน้าที่การเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาว่า จำเลยที่ ๔ เป็นกรรมการรักษาเงินด้วยแต่เมื่อจำเลยที่ ๔ มอบหมายหน้าที่การเงินให้จำเลยที่ ๓ แล้ว จำเลยที่ ๔ ก็ไม่ได้มาตรวจตราเรื่องการเงิน ลูกกุญแจที่เก็บรักษาเงินโดยหน้าที่จำเลยที่ ๔ ในฐานะกรรมการรักษาเงินต้องถือไว้ ๑ ดอก ตามที่กระทรวงการคลังวางระเบียบไว้เพื่อให้กรรมการแต่ละคนควบคุมซึ่งกันและกันอยู่ในตัว การจะนำเงินเข้าออกจากที่เก็บต้องมีพยานร่วมรู้เห็น เพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับเงินของรัฐแต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๔ หาได้ตระหนักถึงข้อนี้ไม่ กลับมอบกุญแจให้จำเลยที่ ๓ ซึ่งมีหน้าที่ถือกุญแจอยู่ ๑ ดอกแล้ว ให้ถือกุญแจของจำเลยที่ ๔ เพิ่มขึ้นอีก ๑ ดอกด้วย เป็นการเปิดช่องทางให้มีการยักยอกเงินได้สะดวกขึ้นอีก เห็นว่าจำเลยที่ ๔ นอกจากจะปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการเก็บรักษาเงินดังกล่าวแล้ว ยังไม่ยอมเก็บรักษากุญแจในฐานะเป็นกรรมการรักษาเงินไว้กับตน ทั้งเมื่อได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่แทนตนแล้ว ก็มิได้ตรวจตราควบคุมดูแลการนำเงินเข้าและออกจากที่เก็บตลอดจนมิได้ตรวจสอบทะเบียนเงินยืมและเร่งรัดให้มีการส่งใบสำคัญหักล้างเงินยืมตามระเบีบบจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันปลอมใบยืมและเบิกเงินไปโดยผิดระเบียบเป็นจำนวนถึง ๒๙ ครั้ง ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ เมื่อเกิดการเสียหายอันเป็นผลของความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๔ ดังกล่าวจำเลยที่ ๔ จึงหาพ้นความรับผิดชอบในเงินที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยักยอกไปไม่
พิพากษายืน