แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนถึงวันที่จำเลยยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 เป็นเวลาประมาณ 8 เดือนจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด และจำเลยยังไม่เคยติดต่อโจทก์เพื่อจะชำระหนี้ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยประกอบการพาณิชยกรรมมีรายได้ประจำปีเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้จริง จำเลยก็สามารถจะระบุมาในคำร้องได้ว่าจำเลยมีรายได้จากกิจการดังกล่าวมากน้อยเพียงใด และจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ครบถ้วนเมื่อใด การที่จำเลยกล่าวในคำร้องลอย ๆ ว่า จำเลยใช้ทรัพย์สินที่ถูกยึดประกอบการพาณิชยกรรมมีรายได้ประจำปีเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ โดยมิได้กล่าวถึงจำนวนรายได้และกำหนดเวลาที่จะชำระให้เสร็จสิ้นมาด้วยเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยจะมีรายได้จากการที่กล่าวแล้วพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังที่อ้าง พฤติการณ์ของจำเลยน่าเชื่อว่าเป็นการประวิงคดีมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในเวลาอันควร กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะไต่สวนเพื่อตั้งผู้จัดการประกอบกิจการพาณิชยกรรมแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ.มาตรา 307 และตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 21 (4) ก็มิได้บังคับว่าศาลต้องทำการไต่สวนทุกกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอเข้ามา แต่ให้อำนาจศาลที่จะไต่สวนตามคำขอหรือไม่ แล้วแต่ศาลพิจารณาเห็นสมควร ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องโดยไม่ไต่สวนก่อนชอบแล้ว