คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขอกู้เงินจากผู้เสียหายโดยหลอกลวงว่าเป็นเจ้าของที่ดินมีบ้านปลูกอยู่ 1 หลังซึ่งความจริงไม่มีบ้านปลูกอยู่ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้จำเลยกู้ยืมเงินไป และรับจำนองที่ดินของจำเลยเป็นประกันเงินกู้ ต่อมาโดยการหลอกลวงของจำเลย ผู้เสียหายได้ยอมรับเอาที่ดินดังกล่าวหักกลบลบหนี้กับเงินกู้ยืมโดยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินแล้วทำเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด การกระทำของจำเลยในครั้งหลังไม่ได้มีการกล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ เป็นเพียงผลต่อเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากผู้เสียหายการกระทำของจำเลยถึงจะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 480,000 บาท แก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2717/2539
จำเลยให้การสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 93, 341 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือนรวมสองกระทง จำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 6 เดือนให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 480,000 บาท ไม่ปรากฏว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2717/2539 ของศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยแต่อย่างใดจึงไม่นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาดังกล่าว ยกคำขอในส่วนนี้เสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่สืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรก ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และโจทก์จำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลย่อมพิพากษาคดีไปได้ โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพต่อไปอีก การใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นในกรณีนี้ชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่าการกระทำผิดของจำเลยมีลักษณะเตรียมการมาก่อนเป็นภัยแก่สุจริตชนทั่วไป ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสจำเลยหาเงินมาชดใช้แก่ผู้เสียหาย โดยเลื่อนการฟังคำพิพากษาหลายครั้ง แต่สุดท้ายจำเลยก็มิได้บรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษแก่จำเลย แต่การที่จำเลยขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย โดยหลอกลวงว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งมีบ้านปลูกอยู่ 1 หลัง มีราคารวมกันประมาณ 500,000 บาทและบ้านดังกล่าวได้ให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งความจริงไม่มีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินและที่ดินมีราคาไม่เกิน 80,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้จำเลยกู้ยืมเงินไป 480,000 บาท และรับจำนองที่ดินของจำเลยเป็นประกันเงินกู้ ต่อมาโดยการหลอกลวงของจำเลยผู้เสียหายได้ยอมรับเอาที่ดินดังกล่าวหักกลบลบหนี้กับเงินกู้ยืมโดยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดิน แล้วทำเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด การกระทำของจำเลยในครั้งหลังมิได้มีการกล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่เป็นเพียงผลต่อเนื่องจากการกระทำครั้งแรกโดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยถึงจะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เพียงกรรมเดียวจำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share