แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติไปจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่ง หรือร่ำรวยผิดปกติซึ่งรวมถึงการได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75, 80 และมาตรา 81 นั้น ต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้ในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่งเพื่อชำระหนี้ตามมูลแห่งหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะการที่ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้อง แม้เป็นการบังคับเอาจากทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นผลให้ผู้คัดค้านต้องสูญเสียทรัพย์สินหากพิสูจน์ได้ว่ามีการได้ซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบตามเงื่อนไขที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด ก็เป็นผลจากการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบด้วยหน้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนมีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประพฤติทุจริตไม่อาจยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปอันเป็นผลทางกฎหมายที่มิได้ก่อขึ้นจากหนี้อันเป็นมูลเหตุแห่งสิทธิเรียกร้องที่ผู้คัดค้านสามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้ และอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 75 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ต้องกล่าวหากรณีร่ำรวยผิดปกติภายในสองปีนับแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และมาตรา 83 ได้บัญญัติให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาภายในสิบปี เป็นบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อเร่งรัดให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุตามข้อกล่าวหา ทำนองเดียวกับมาตรา 81 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการกำหนดหน้าที่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย หาใช่การใช้สิทธิเรียกร้องที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความและเพียงการที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 80 บัญญัติว่า ให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีตาม (2) (3) (4) โดยอนุโลมก็เป็นการกำหนดถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่คดีนี้ด้วยแต่ประการใด
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 49,000,000 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 (2) ให้ผู้ถูกกล่าวหาส่งมอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเงินจำนวน 49,000,000 บาท หรือเอกสารที่เกี่ยวกับการรับช่วงทรัพย์ของเงินดังกล่าว พร้อมกับให้โอนกรรมสิทธิ์หรือชำระเงินจำนวน 49,000,000 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นแก่แผ่นดินโดยกระทรวงการคลัง หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนา หากผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถโอนทรัพย์สินให้แก่แผ่นดินได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม ให้ผู้ถูกกล่าวหาชดใช้เงินจำนวน 49,000,000 บาทหรือโอนทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาตามสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินแก่แผ่นดินแทนจนครบ หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้ผู้ถูกกล่าวหาชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน 49,000,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าผู้ถูกกล่าวหาจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่แผ่นดินจนเสร็จสิ้น
ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นแล้วมีคำสั่งใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติไปจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่ง หรือร่ำรวยผิดปกติซึ่งรวมถึงการได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 75, 80 และมาตรา 81 นั้น เป็นผลจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 301 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นคำร้องบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและไต่สวนวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และบทเฉพาะกาลตามมาตรา 331 ยังได้บัญญัติให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะอันเป็นการร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่ หลักเกณฑ์วิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวหา เพื่อให้ทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มาโดยมิชอบจากการปฏิบัติหน้าที่ตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นหลักการและเหตุผลตามที่บัญญัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้ในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่งเพื่อชำระหนี้ตามมูลแห่งหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะการที่ผู้ร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้อง แม้เป็นการบังคับเอาจากทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นผลให้ผู้คัดค้านต้องสูญเสียทรัพย์สินหากพิสูจน์ได้ว่ามีการได้ซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบตามเงื่อนไขที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด ก็เป็นผลจากการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบด้วยหน้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนมีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประพฤติทุจริตไม่อาจยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปอันเป็นผลทางกฎหมายที่มิได้ก่อขึ้นจากหนี้อันเป็นมูลเหตุแห่งสิทธิเรียกร้องที่ผู้คัดค้านสามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้ และอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามที่ผู้คัดค้านยกขึ้นฎีกา ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 75 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ต้องกล่าวหากรณีร่ำรวยผิดปกติภายในสองปีนับแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และมาตรา 83 ได้บัญญัติให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาภายในสิบปี อันเป็นกรณีที่กฎหมายจำกัดระยะเวลาในการดำเนินการที่กระทบถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา การยื่นคำร้องต่อศาลจึงต้องมีอายุความเช่นเดียวกันนั้น เห็นว่า การที่บทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อเร่งรัดให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุตามข้อกล่าวหา ทำนองเดียวกับมาตรา 81 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เป็นการกำหนดหน้าที่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย หาใช่การใช้สิทธิเรียกร้องที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความตามที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้าง และเพียงการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 80 บัญญัติว่า ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่กรณีตาม (2) (3) (4) โดยอนุโลมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ก็เป็นการกำหนดถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่คดีนี้ด้วยแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายแล้ววินิจฉัยว่าการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องไม่มีอายุความนั้น ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงสมควรให้ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ