คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง …” ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 4469/2544 ของศาลแพ่ง ระหว่างบริษัทรูมาโฮลดิ้ง บี.วี. จำกัด โจทก์ กับนางนงเยาว์ ที่ 1 นายวีระชัย ที่ 2 นายอำนาจ ที่ 3 จำเลยที่พิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวกับพวกร่วมกันชำระเงิน 148,472,881 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000,000 บาท นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 166817 ถึง 166819 ตำบลลาดพร้าว (ออเป้า) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่นางนงนุช ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2554 โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องเรียกร้องตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวให้แก่บริษัทโบโคเจ เอส. พี. เอ. โคสตรูซีโอนนี่ เจนเนอรารี จำกัด มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การพิจารณาอำนาจฟ้องของโจทก์จะต้องพิจารณาในขณะยื่นฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่โอนที่ดินให้แก่นางนงนุชหรือไม่ มิใช่พิจารณาข้อเท็จจริงในขณะเกิดเหตุเพราะขณะยื่นฟ้องโจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ของจำเลยและไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ จากการกระทำของจำเลยอีกนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง….” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ ดังนี้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 4469/2544 ของศาลแพ่ง ให้แก่บริษัทโบโคเจ เอส พี. เอ. โคสตรูซีโอนนี่ เจนเนอรารี จำกัด แล้วก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด โจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 166817 ถึง 166819 ตำบลลาดพร้าว (ออเป้า) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของจำเลย ให้แก่นางนงนุช เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share