คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรก มิได้ถือเอาอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อสำคัญ แต่ถือเอาอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ ในความผิดฐานใดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิตสถานเดียว แม้จำเลยให้การรับสารภาพ กฎหมายก็บังคับให้ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้เมื่อข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 20 ปี โทษจำคุกตลอดชีวิตนี้ถึงแม้จะเป็นโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก 5 ปี แต่ก็เป็นอัตราโทษอย่างสูง ส่วนอัตราโทษอย่างต่ำในความผิดฐานนี้ให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งศาลอาจลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตลงมาจนถึงจำคุก 2 ปีได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยอีก
ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน และเครื่องกระสุนปืนอันเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดฐานนี้ก็มีเพียง 3 นัด นอกจากนี้ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนอีกกระทงหนึ่งนั้น ศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษารอการลงโทษให้จำเลยและคดีเป็นอันยุติไปแล้ว ตามพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีเห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยในความผิดฐานนี้ด้วย

ย่อยาว

โจทกฟ์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกขนาด .๒๒ จำนวน ๑ กระบอกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ และมีกระสุนปืนขนาด .๒๒ จำนวน ๖๐ นัด ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตกับมีกระสุนปืนเล็กกล เอ็ม ๑๖ ขนาด .๒๒๓ จำนวน ๑ นัด กระสุนปืนกลอากาศขนาด .๕๐ จำนวน ๒ นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ไว้ในความครอบครอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๕๕, ๗๒, ๗๘ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นสั่งนัดสืบพยานโจทก์ ถึงวันนัดโจทก์แถลงว่าเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์สืบพยานโจทก์ต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๗๒ ลดโทษแล้วจำคุก ๑ ปีและปรับ ๔,๖๐๐ บาทรอการลงโทษริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๕๕, ๗๘ อีกฐานหนึ่ง ลดโทษแล้วคงจำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๑๗๖ วรรคแรก บัญญัติว่า ‘ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง’ ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ถือเอาอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อสำคัญ แต่ถือเอาอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์กล่าวคือ ในความผิดฐานใดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป หรือความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิตสถานเดียว แม้จำเลยให้การรับสารภาพกฎหมายก็บังคังให้ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้เมื่อข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๒๐ ปี โทษจำคุกตลอดชีวิตนี้ถึงแม้จะเป็นโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก ๕ ปี แต่ก็เป็นอัตราโทษอย่างสูง ส่วนอัตราโทษอย่างต่ำในความผิดฐานนี้ให้จำคุกตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป ซึ่งศาลอาจลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตลงมาจนถึงจำคุก ๒ ปีได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่จำเลยรับสารภาพจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดก็ขอให้รอการลงโทษให้ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยนี้เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และเครื่องกระสุนปืนอันเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดฐานนี้ก็มีเพียง กระสุนปืน เอ็ม๑๖ จำนวน ๑ นัด กับกระสุนปืนกลอากาศขนาด .๕๐ จำนวน ๒ นัด นอกจากนี้ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนอีกกระทงหนึ่งนั้น ศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษารอการลงโทษให้จำเลยและคดีเป็นอันยุติไปแล้ว ตามพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีเห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยในความผิดฐานนี้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้นั้น ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้นี้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share