คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972-2973/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการหนังสือพิมพ์ อ. โดยจำเลยที่ 3 เป็นที่ปรึกษา จึงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับการจัดพิมพ์และจำหน่ายเพื่อโฆษณาเผยแพร่หนังสือพิมพ์นั้น ซึ่งต้องได้อ่านข้อความในหนังสือพิมพ์ด้วย หากไม่เหมาะสมจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องเผยแพร่ สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นที่ปรึกษาย่อมมีหน้าที่กลั่นกรองข้อความที่ออกพิมพ์โฆษณา ให้ข้อเสนอและข้อคิดเห็น จึงเป็นที่แน่นอนว่าจำเลยที่ 3 ต้องได้อ่านและรู้ข้อความก่อนพิมพ์ออกจำหน่าย โจทก์ไม่ต้องนำสืบก็รับฟังได้ หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 แล้ว ข้อความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ไม่มีทางโฆษณาแพร่หลาย จึงเป็นผู้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 โดยแบ่งหน้าที่กันทำ เช่นนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์เท่านั้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้อำนวยการซึ่งมีอำนาจบริหาร จัดการ และสั่งการบรรดาลูกจ้างเจ้าหน้าที่ในการพิมพ์และโฆษณาหนังสือพิมพ์เอกไทย กับเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณามีอำนาจหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายในการสั่งการควบคุมและจัดให้มีการพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่บริหาร สั่งการเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือพิมพ์ ธุรกิจการพิมพ์และการจัดจำหน่าย ย่อมรู้เห็นข้อความที่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำทักท้วงในการบริหารธุรกิจ การตีพิมพ์ข้อความมิให้จำเลยที่ 1 ตีพิมพ์และโฆษณาข้อความอันผิดกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมรู้เห็นเป็นใจเกี่ยวกับการตีพิมพ์และโฆษณาข้อความที่จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนข้อความที่ลงพิมพ์ในคอลัมน์คุยให้ฟังในหนังสือพิมพ์เอกไทจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันลงพิพม์โฆษณาข้อความซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนหมิ่นประมาทโจทก์ในหนังสือพิมพ์เอกไท ปีที่ 8 ฉบับที่ 279 ประจำวันที่ 20 เมษายน 2526 คอลัมน์คุยให้ฟังว่า “…….” ฯลฯทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 393, 83, 91 และ 50พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์รายวันเอกไทประจำวันที่ 20 เมษายน 2526 ทั้งหมด ให้จำเลยทั้งสี่จัดให้มีการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ของจำเลย และหนังสือพิมพ์รายวันที่โจทก์กำหนดรวม 7 ฉบับ มีกำหนดฉบับละ 15 วัน ติดต่อกันโดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกับห้ามจำเลยทั้งสี่ประกอบวิชาชีพและอาชีพในการทำหนังสือพิมพ์มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484มาตรา 48 จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปีให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เอกไท ดาวเหนือ และเม็งรายฉบับละ 7 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์โฆษณาโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์รายวันเอกไท ประจำวันที่ 20 เมษายน 2526 ทั้งหมด ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการหนังสือพิมพ์เอกไท โดยจำเลยที่ 3เป็นที่ปรึกษาจึงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับการจัดพิมพ์และจำหน่ายเพื่อโฆษณาเผยแพร่หนังสือพิมพ์นั้น ซึ่งต้องได้อ่านข้อความในหนังสือพิมพ์ด้วย หากไม่เหมาะสมจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องเผยแพร่ จำเลยที่ 3 ย่อมมีหน้าที่กลั่นกรองข้อความที่พิมพ์โฆษณา ให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น จึงเป็นที่แน่นอนว่า จำเลยที่ 3ต้องได้อ่านและรู้ข้อความก่อนพิมพ์ออกจำหน่าย โจทก์ไม่ต้องนำสืบก็รับฟังได้หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 แล้ว ข้อความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ไม่มีทางโฆษณาแพร่หลาย จึงเป็นผู้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 4 โดยแบ่งหน้าที่กันทำ เช่นนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์เท่านั้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share