แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายสวมสร้อยคอทองคำนอนหลับอยู่ในห้องกับเด็กหญิง ส. จำเลยมีเจตนาลักสร้อยคอของผู้เสียหาย จึงเข้าไปในห้องนั้น แต่ห้องมืดจำเลยมองไม่เห็น จึงใช้มือคลำที่คอเด็กหญิง ส. โดยคิดว่าเป็นคอของผู้เสียหาย เด็กหญิง ส. ตื่นขึ้น จำเลยจึงหนีไป เช่นนี้ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกและพยายามลักสร้อยคอผู้เสียหายแล้ว แม้จำเลยจะยังมิได้แตะต้องสร้อยคอนั้นก็ตาม
จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ แล้วได้กระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท คือผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 และมาตรา 335 วรรค 2 ประกอบมาตรา 80 ศาลต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 364 อันเป็นบทหนัก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย แล้วลักสร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย จำเลยลงมือกระทำผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะเด็กหญิงสุพรพบเห็นการกระทำผิดของจำเลยเสียก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ (๓) , ๓๓๕ (๑) (๘) , ๘๐
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ (๓) , ๓๓๕ (๑) (๘) , ๘๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๓๕ (๑) (๘) , ๘๐ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา ๙๑ จำคุกจำเลย ๒ ปี ๖ เดือน คำรับชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เฉพาะความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ พยานโจทก์เป็นที่น่าสงสัย พิพากษาแก้ ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ (๓) บทเดียว จำคุกจำเลยหกเดือน ยกฟ้องข้อหาพยายามลักทรัพย์
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ในคืนเกิดเหตุ ผู้เสียหายสวมสร้อยคอทองคำนอนหลับอยู่ในห้องกับเด็กหญิงสุพร ไฟฟ้าในห้องดับหมด จำเลยเข้ามาในห้อง ไม่อาจรู้ว่าผู้เสียหายนอนอยู่ตรงไหน จึงใช้มือคลำเปะปะไปโดยคิดว่าที่คอเด็กหญิงสุพรคือคอผู้เสียหายซึ่งสวมสร้อยคออยู่ จำเลยกับผู้เสียหายอยู่บ้านใกล้กัน จำเลยรู้ดีว่าผู้เสียหายมีสร้อยคอสวมที่คอ จึงถือโอกาสเข้าไปลักสร้อยคอขณะผู้เสียหายนอนหลับ จึงฟังได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหาย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) (๘) , ๘๐ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา ๙๑ นั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยเข้าไปเพื่อลักทรัพย์ โดยผ่านการบุกรุกก่อนเป็นกรรมเดียวกัน แต่ผิดกฎหมายหลายบท โทษจำคุกอย่างสูงตามมาตรา ๓๖๕ นั้น ถึง ๕ ปี โทษจำคุกอย่างสูงตามมาตรา ๓๓๕ วรรค ๒ ถึง ๗ ปี แต่ความผิดฐานพยายามลงโทษได้เพียง ๒ ใน ๓ คือ จำคุก ๔ ปี ๘ เดือนเท่านั้น ฉะนั้นจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐