คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยตกลงรับจ้างทำการชักลากไม้ของโจทก์จำนวน 60 ท่อนจากป่าระหารไปส่งให้แก่โจทก์ผู้ว่าจ้างที่บ้านท่าพุทราซึ่งเป็นการขนเฉพาะไม้รายนี้ให้โจทก์ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยโจทก์คิดค่าจ้างให้จำเลยเพื่อผลสำเร็จแห่งการงานนั้น ในจำนวนไม้ตามที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 60 บาท หาใช่เป็นสัญญาที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องทำการขนไม้รายอื่น ๆ ให้โจทก์อยู่ตลอดเวลาที่จ้างตามที่กำหนดไว้นั้นไม่ สัญญาที่จำเลยทำจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ หาใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 การชำรุดบกพร่องจะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องแก่ตัวทรัพย์ที่จำเลยทำการขนส่งมอบแก่โจทก์ จำเลยขนส่งไม้ไปส่งมอบให้โจทก์ไม่ครบจำนวน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ กรณีไม่เข้ามาตรา 601 ตามสัญญาจ้างชักลากไม้ก็มีความว่า หากปรากฏว่าไม้ที่จ้างกันนี้สูญหายหรือเสียหายด้วยประการใด ๆ จำเลยผู้รับจ้างจะต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าไม้ที่ขาดหายไปนั้นจากจำเลยได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตัวแทนโจทก์ผู้จ้างได้ทำสัญญาจ้างจำเลยผู้รับจ้างทำการชักลากไม้สักของกลาง จำนวน 60 ท่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้จับยึดจากผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ มาส่งมอบให้แก่ตัวแทนโจทก์ผู้จ้างให้เสร็จสิ้นครบถ้วนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2501 จำเลยผู้รับจ้างได้ชักลากไม้ของกลางตามสัญญามาส่งมอบเพียงจำนวน 13 ท่อนจำเลยได้ทำสูญหายไปในระหว่างอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน 25,482 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญารับจ้างชักลากไม้ของกลางจำเลยขอตัดฟ้องว่า หนังสือสัญญารับจ้างชักลากไม้เป็นเอกสารที่ขาดอายุความ

ชั้นพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่า สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยนั้น เป็นสัญญาจ้างทำของ ขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นก่อนดำเนินการพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย วินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างทำของ คดีของโจทก์ขาดอายุความ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

มีปัญหาว่า สัญญาที่ผู้แทนโจทก์กับจำเลยทำไว้ต่อกันนี้เป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในสัญญาจะมีข้อความว่า โจทก์หรือผู้แทนมีสิทธิที่จะเข้าตรวจการงานได้ทุกเวลาก็ตามแต่ตามสัญญานั้นจะเห็นได้ว่าจำเลยเพียงแต่ตกลงรับจ้างทำการชักลากไม้ของโจทก์จำนวน 60 ท่อนจากป่าระหาร ไปส่งให้แก่โจทก์ผู้ว่าจ้างที่บ้านท่าพุทราซึ่งเป็นการขนเฉพาะไม้รายนี้ให้โจทก์ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยโจทก์คิดค่าจ้างให้จำเลยเพื่อผลสำเร็จแห่งการงานนั้น ในจำนวนไม้ตามที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ60 บาท หาใช่เป็นสัญญาที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องทำการขนไม้รายอื่น ๆ ให้โจทก์อยู่ตลอดเวลาที่จ้างตามที่กำหนดไว้นั้นไม่ สัญญาที่จำเลยทำไว้กับผู้แทนโจทก์ตามสำเนาท้ายฟ้องหมายเลข 1 จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ หาใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามที่โจทก์ฎีกามาไม่

ส่วนปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์จะขาดอายุความแล้วหรือไม่ ได้ความว่า จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า จำเลยรับจ้างชักลากไม้สักจำนวน 60 ท่อน เพื่อส่งมอบให้โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2501 แต่คงปรากฏว่าจำเลยชักลากไม้ส่งมอบให้ตัวแทนโจทก์เพียงจำนวน 13 ท่อน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น” การชำรุดบกพร่องที่ว่านี้ศาลฎีกาเห็นว่าจะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องแก่ตัวทรัพย์ที่จำเลยทำการขนส่งมอบแก่โจทก์ แต่คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยขนไม้ไปส่งมอบให้โจทก์ไม่ครบตามจำนวน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ กรณีไม่เข้า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 ตามสัญญาจ้างชักลากไม้ของกลางท้ายฟ้องโจทก์ ข้อ 7 ก็มีความว่าหากปรากฏว่าไม้ที่จ้างกันนี้สูญหายหรือเสียหายด้วยประการใด ๆ จำเลยผู้รับจ้างจะต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าไม้ที่ขาดหายไปนั้นจากจำเลยได้ภายในกำหนด10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เสียให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาตามประเด็นที่คู่ความโต้เถียงกันนั้นต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share