แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 20 มิถุนายน 2556 โจทก์ที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 18 กันยายน 2556 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์มาภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์ที่ 1 ไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1), (2) ประกอบมาตรา 247 แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงโจทก์ที่ 2 ใหม่ด้วยตามรูปคดี ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองเปิดการใช้กระแสไฟฟ้า และยินยอมให้โจทก์ทั้งสองพร้อมบริวารเข้าไปในสถานที่เช่าอาคารเลขที่ 1883/29 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อประกอบธุรกิจตามปกติ และยุติการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายในอัตราวันละ 10,000 บาท และในอัตราเดือนละ 12,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะปฏิบัติตามสัญญา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 ตุลาคม 2555) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 20 มิถุนายน 2556 โจทก์ที่ 2 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 และ 9 สิงหาคม 2556 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2556 และ 18 กันยายน 2556 ตามลำดับ ส่วนโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์แต่ยื่นอุทธรณ์วันที่ 18 กันยายน 2556 ฉบับเดียวกับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 มาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ไว้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2556 ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2556 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 18 กันยายน 2556 ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2556 โจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์มาภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์สั่งไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์ที่ 1 ไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1), (2) ประกอบมาตรา 247 เนื่องจากโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีจึงให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงโจทก์ที่ 2 ใหม่ด้วยตามรูปคดี ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และกระบวนพิจารณาหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษา และให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่