คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16563/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำหรับในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์บรรยายไว้แล้วในคำฟ้องเท่านั้น โดยเทียบเคียงบทบัญญัติตามมาตราในกฎหมายที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตราเหล่านั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะปัญหาว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่ต้องพิจารณาว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงว่าอย่างไร ครบองค์ประกอบของความผิดนั้นหรือไม่ เพราะคำฟ้องต้องชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้เสียก่อน การที่โจทก์จะอุทธรณ์จึงต้องอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า เมื่อพิจารณาจากการบรรยายฟ้องแล้ว โจทก์เห็นว่าคำบรรยายฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายในส่วนนี้แล้วอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลขัดหรือคลาดเคลื่อนกับที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างไร เพื่อให้เห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เมื่อโจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไรแล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์
ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผนผังของโรงไฟฟ้าและข้อมูลอื่น ๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้า โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ แต่โจทก์หาได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องไม่ ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร รวมทั้งการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าโดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด แต่โจทก์หาได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 ดังกล่าวไม่ นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ว่า จำเลยทั้งห้าได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าในเอกสารประกอบคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 1 หาดกังหัน 2 และหาดกังหัน 3 ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้จำเลยทั้งห้ามีเหตุอันควรจะได้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดต่อแนวทางเช่นว่านั้นโดยนำไปทำเป็นเอกสารประกอบของคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการและกรรมการบริหารของโจทก์และจำเลยที่ 4 เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงทราบข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้าทั้งหมดตามคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าและเอกสารประกอบในคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 2 ของโจทก์เป็นอย่างดีและสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 เท่านั้น มิใช่การบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด ดังนี้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 35 จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3, 6, 33 และ 35 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 69, 70, 74 และ 76 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90 และ 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 เคลือบคลุมหรือไม่ และคำฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 และ 35 มีมูลหรือไม่ สำหรับในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยพิจารณาข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องเกี่ยวกับข้อหาความผิดทั้งสองข้อหาแล้วจึงวินิจฉัยว่าคำฟ้องเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ดังนั้น ในการพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์บรรยายไว้แล้วในคำฟ้องเท่านั้น โดยเทียบเคียงบทบัญญัติตามมาตราในกฎหมายที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตราเหล่านั้นหรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงว่าอย่างไร ครบองค์ประกอบของความผิดนั้นหรือไม่ เพราะคำฟ้องต้องชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้เสียก่อน การที่โจทก์จะอุทธรณ์จึงต้องอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า เมื่อพิจารณาจากการบรรยายฟ้องแล้ว โจทก์เห็นว่าคำบรรยายฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายในส่วนนี้แล้วอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลขัดหรือคลาดเคลื่อนกับที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างไร เพื่อให้เห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เมื่อโจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไรแล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์
สำหรับข้อความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 35 นั้น ก่อนจะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีของโจทก์มีมูลสำหรับข้อหาความผิดดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่า คำฟ้องที่โจทก์บรรยายสำหรับข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ ในปัญหานี้พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 35 บัญญัติว่า
“มาตรา 33 ผู้ใดเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่นให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า โดยเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจไม่ว่าจะกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 35 ผู้ใดเปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งตนได้มาหรือล่วงรู้ เนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการหรือเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน หรือการพิจารณาคดี
ผู้ใดได้มาหรือล่วงรู้ข้อเท็จจริงใดจากบุคคลตามวรรคหนึ่งเนื่องในการปฏิบัติราชการหรือการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี แล้วเปิดเผยข้อเท็จจริงนั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน” และในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้ความหมายของคำว่า”ความลับทางการค้า” “ข้อมูลการค้า” “เจ้าของความลับทางการค้า” และ “ผู้ควบคุมความลับทางการค้า” ไว้ดังนี้
“ความลับทางการค้า” หมายความว่า ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไปหรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ
“ข้อมูลทางการค้า” หมายความว่า สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้ข้อความเรื่องราวข้อเท็จจริง หรือสิ่งใดไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะผ่านวิธีการใด ๆ และไม่ว่าจะจัดทำไว้ในรูปใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสูตร รูปแบบ งานที่ได้รวบรวมหรือประกอบขึ้น โปรแกรม วิธีการ เทคนิค หรือกรรมวิธีด้วย
“เจ้าของความลับทางการค้า” หมายความว่า ผู้ค้นพบ คิดค้น รวบรวมหรือสร้างสรรค์ข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้าโดยมิได้เป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของผู้อื่น หรือผู้มีสิทธิโดยชอบในผลการทดสอบหรือข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้า และให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
“ผู้ควบคุมความลับทางการค้า” หมายความว่า เจ้าของความลับทางการค้าและให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครอง ควบคุม หรือดูแลรักษาความลับทางการค้าด้วยส่วนการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 บัญญัติว่า “การละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่การกระทำที่เป็นการเปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของความลับทางการค้านั้น อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกันทั้งนี้ ผู้ละเมิดจะต้องรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อแนวทางปฏิบัติเช่นว่านั้น
การกระทำที่มีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกันตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงการผิดสัญญา การละเมิดหรือการกระทำในประการที่เป็นการจูงใจให้ละเมิดความลับอันเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน การติดสินบน การข่มขู่ การฉ้อโกง การลักทรัพย์การรับของโจร หรือการจารกรรม โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดด้วย” โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 35 ว่า “ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลัง โจทก์ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และแผนผังของโรงไฟฟ้า ตลอดจนข้อมูลเบื้องต้นของขั้นตอนและกระบวนการผลิตภายในโรงงาน รวมทั้งรายละเอียดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องต้นกำลังพร้อมข้อประกอบทางเทคนิค ประกอบกับแผนภูมิของระบบไฟฟ้า ระบบมาตรวัดไฟฟ้าและระบบป้องกันที่จะเชื่อมกับระบบของการไฟฟ้า ปริมาณพลังไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้าที่จะจ่ายเข้าระบบของการไฟฟ้า ณ จุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าฯลฯ และปริมาณพลังไฟฟ้าสำรองที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กต้องการขอใช้จากการไฟฟ้าและอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นข้อมูลที่โจทก์เป็นเจ้าของและเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ ซึ่งเป็นข้อมูลทางการค้าที่ยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไปหรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นความลับทางการค้า และเป็นข้อมูลที่โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการเพื่อเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ไว้เป็นความลับอย่างดีมาโดยตลอด โดยข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะมีเฉพาะคณะกรรมการและกรรมการบริหารของโจทก์เท่านั้นที่รับทราบ … วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายโดยบังอาจร่วมกันละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าและลิขสิทธิ์ในข้อมูลในเอกสารประกอบคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 1, 2, 3 ของโจทก์โดยจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเปิดเผย เอาไปหรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้จำเลยทั้งห้ามีเหตุอันควรจะรู้ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดต่อแนวทางเช่นว่านั้นโดยนำไปทำเป็นเอกสารประกอบของคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ยื่นเสนอขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเลขที่ “WIND.1205001” ภายใต้ชื่อ “โครงการระโนดวินด์ฟาร์ม” เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ … การละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของจำเลยทั้งห้าจึงมีเจตนาเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ … จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการและกรรมการบริหารของโจทก์จนกระทั่งเดือนเมษายน 2555 และจำเลยที่ 3 เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของโจทก์จนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม 2555 ทั้งนี้จำเลยทั้งสองทราบข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้าทั้งหมดตามคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าและเอกสารประกอบในคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 2 ของโจทก์เป็นอย่างดีและสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้” เห็นว่า ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผนผังของโรงไฟฟ้าและข้อมูลอื่น ๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้า โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ แต่โจทก์หาได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องไม่ ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร รวมทั้งการกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าโดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด แต่โจทก์หาได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 ดังกล่าวไม่ นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ว่า จำเลยทั้งห้าได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าในเอกสารประกอบคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 1 หาดกังหัน 2 และหาดกังหัน 3 ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้จำเลยทั้งห้ามีเหตุอันควรจะได้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดต่อแนวทางเช่นว่านั้นโดยนำไปทำเป็นเอกสารประกอบของคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการและกรรมการบริหารของโจทก์และจำเลยที่ 4 เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงทราบข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้าทั้งหมดตามคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าและเอกสารประกอบในคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 2 ของโจทก์เป็นอย่างดีและสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 เท่านั้น มิใช่การบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด ดังนี้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 35 จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เช่นกัน แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงเป็นอันไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 มาตรา 33 และมาตรา 35 ว่ามีมูลหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share