แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้มีสิทธิผูกขาดการค้าเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ตามกฎหมายแต่ได้ทำสัญญาอนุญาตหรือมอบให้ผู้อื่นสั่งเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์เข้ามาจำหน่ายอีกต่อหนึ่งโดยเรียกเอาผลประโยชน์นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องตัวการตั้งตัวแทนแต่เป็นการโอนอำนาจในการค้าดังกล่าวให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจทำการค้าไปทำการค้า อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติวิทยุฯ มาตรา 8 และมาตรา 20 สัญญานี้จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ฟ้องเรียกเงินตามสัญญาไม่ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 28/2507)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับสิทธิจากรัฐบาลให้ผูกขาดในการสั่งเครื่องรับโทรทัศน์จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแต่ผู้เดียว จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้สั่งเครื่องรับโทรทัศน์และส่วนแห่งเครื่องรับเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยต้องเสียค่าตอบแทนให้โจทก์ร้อยละสิบของราคาเครื่องรับโทรทัศน์ จำเลยผิดสัญญา ขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้เงิน 70,505.96 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นสมควรวินิจฉัยข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า สัญญาที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยขัดต่อกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ๆเป็นโมฆะหรือไม่เสียก่อน และเมื่อได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 มาตรา 8 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดค้าเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์หรือส่วนใด ๆแห่งเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่กระทรวงทบวงกรมหรือนิติบุคคลที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้ว่าพระราชบัญญัตินี้มิให้บังคับแก่ (1) กรมประชาสัมพันธ์ (2) กรมไปรษณีย์โทรเลข (3) กระทรวงกลาโหม (4) กระทรวงทบวงกรมอื่นใด และนิติบุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ได้มีกฎกระทรวงกำหนดให้บริษัทไทยโทรทัศน์โจทก์เป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4(4) มีอำนาจทำการค้าเครื่องวิทยุโทรทัศน์ได้
มาตรา 20 ว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 8 มีความผิดปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด โจทก์มีอำนาจทำการค้าก็เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้โดยเฉพาะ การที่โจทก์อนุญาตหรือมอบอำนาจให้จำเลยเเป็นผู้กระทำการค้าแทนตนอีกต่อหนึ่ง โดยตนเพียงแต่เรียกร้องเอาผลประโยชน์ซึ่งเรียกว่าเป็นค่าช่วยรายการส่งวิทยุโทรทัศน์นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องตัวการตั้งตัวแทน แต่เป็นการโอนอำนาจในการค้าเครื่องโทรทัศน์ให้แก่จำเลยผู้ที่ไม่มีอำนาจทำการค้าไปทำการค้าอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติวิทยุฯ มาตรา 8, 20 นั่นเองฉะนั้น สัญญาที่โจทก์ยอมให้จำเลยไปทำการค้าโทรทัศน์จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยตามสัญญาไม่ได้ ไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป
พิพากษายืนในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องฯ