คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3780/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยมีคำสั่งลดตำแหน่งของโจทก์จากหัวหน้าพนักงานขาย ระดับ 6 เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 แต่จำเลยยังให้โจทก์ทำงาน กับจำเลยต่อไปและโจทก์ก็ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม การกระทำ ของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกระทำใดที่จำเลยผู้เป็น นายจ้างไม่ให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานต่อไปโดยจำเลยไม่จ่าย ค่าจ้างให้อันถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง แม้หนังสือเตือนที่จำเลยเสนอให้โจทก์ลาออกโดยจำเลยยินดี จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์เท่ากับเงินเดือนของโจทก์จำนวน 3 เดือน ก็เป็นเพียงข้อเสนอของจำเลยให้โจทก์พิจารณาว่า จะลาออกหรือไม่เท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวมิใช่เป็นการบอก เลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์และไล่โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้เป็นการผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,493,010 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้า ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไม่มาทำงานให้จำเลย โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลใด ๆ ให้จำเลยทราบ และมิได้ลางานตามระเบียบถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และเลิกสัญญาจ้างต่อจำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยลดตำแหน่งของโจทก์จากหัวหน้าพนักงานขาย ระดับ 6 เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 เป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 หรือไม่ เห็นว่า การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง หมายถึง การกระทำใด ที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานเพราะไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบเรื่องการลดตำแหน่งของโจทก์จากหัวหน้าพนักงานขาย ระดับ 6 เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถควบคุมพนักงานขายให้ทำยอดขายได้คนละจำนวน 400,000 บาทต่อเดือน แต่จำเลยยังให้โจทก์รับเงินเดือนเท่าเดิม ต่อมาวันที่13 ตุลาคม 2540 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำหน้าที่พนักงานขายระดับ 5 รายละเอียดตามหนังสือเตือนเอกสารหมาย จ.1 เห็นได้ว่าแม้จำเลยมีคำสั่งลดตำแหน่งของโจทก์จากหัวหน้าพนักงานขาย ระดับ 6เป็นพนักงานขาย ระดับ 5 แต่จำเลยยังให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและโจทก์ก็ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม เช่นนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกระทำใดที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานต่อไปโดยจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้อันถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ดังที่โจทก์อ้าง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเสนอให้โจทก์ลาออกจากงานโดยจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับเงินเดือนของโจทก์จำนวน 3 เดือน แสดงว่าจำเลยมีความประสงค์บอกเลิกจ้างโจทก์แล้วนั้น เห็นว่าแม้หนังสือเตือนเอกสารหมาย จ.1 จำเลยเสนอให้โจทก์ลาออกโดยจำเลยยินดีจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์เท่ากับเงินเดือนของโจทก์จำนวน 3 เดือน ก็เป็นเพียงข้อเสนอของจำเลยให้โจทก์พิจารณาว่าจะลาออกหรือไม่เท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวมิใช่เป็นการบอกเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share