แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 3 มิได้อยู่ในฐานะเป็นตัวการในการปล้นเงินที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะขณะทำการปล้นจำเลยที่ 3 อยู่ที่ประเทศไทย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมวางแผนปรึกษากับผู้ร่วมกระทำความผิดเพื่อจะไปปล้นเงินดังกล่าว และให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในการปล้นแก่ตัวการก่อนการกระทำความผิด ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานปล้นทรัพย์
จำเลยที่ 6 ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 กับพวกลงเรือข้ามฝั่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อไปปล้นเงินตามแผนการที่กำหนดไว้ ทั้งยังคอยอำนวยความสะดวกด้วยการไปรอรับโบกเสื้อคลุมให้สัญญาณภายหลังที่จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำการปล้นเงินแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แก่จำเลยที่ 1 กับพวกทั้งก่อนและหลังกระทำความผิด จำเลยที่ 6 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานปล้นทรัพย์
จำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันปล้นธนาคารในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วพาทรัพย์หนีเข้ามาในประเทศไทย คณะกรรมการปกครองกำแพงนครเวียงจันทน์ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจมาสมทบกับเจ้าพนักงานตำรวจของไทยเพื่อติดตามคนร้ายพร้อมของกลางมาลงโทษตามกฎหมาย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ได้รับการแต่งตั้งจากประเทศดังกล่าวได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นคนไทยต่อพันตำรวจเอก ส. หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายแล้ว ดังนั้นพนักงานสอบสวนที่ได้รับแต่งตั้งจากพันตำรวจเอก ส. ให้ทำการสอบสวนคดีนี้ จึงถือเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอฟังคำสั่งจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนโดยต้องดำเนินการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย เมื่อต่อมาอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พลตำรวจตรี ห. เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ การสอบสวนที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ย่อมถือว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบไม่ต้องคำนึงว่าพลตำรวจตรี ห. ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนมาแล้วหรือไม่เพียงใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้เอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลมิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานโจทก์อันไม่ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาก็ตามแต่เอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลคดีนี้ โจทก์เพียงใช้ประกอบคำเบิกความของพยานบุคคลซึ่งได้ระบุไว้ในบัญชีพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 มีโอกาสซักค้านพยานบุคคลของโจทก์ที่เกี่ยวกับเอกสารทุกฉบับที่โจทก์อ้างส่งศาลได้อยู่แล้ว ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบหรือหลงผิดในการต่อสู้คดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารเช่นว่านี้ได้เพราะเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๕เวลากลางวัน จำเลยทั้งหกกับพวกที่หลบหนีอีกหลายคนร่วมกันปล้นเงินดอลลาร์สหรัฐ๒,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ของธนาคารการค้าต่างประเทศ ประเทศสาธารณรัฐ-ประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายเคลือบอินสาร กับพวกรวม ๖ คน ไปโดยทุจริต โดยจำเลยที่ ๑ กับพวกอีก ๒ คน แต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจลาวและร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะยิงประทุษร้ายนายเคลือบกับพวก เพื่อให้ความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ การพาทรัพย์นั้นไป ปกปิดการกระทำความผิด และให้พ้นจากการจับกุมและจำเลยทั้งหกกับพวกใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด เหตุเกิดที่ตำบลผาตั้งอำเภอสังคม ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ ตำบลรัตนวาปี อำเภอโพนพิสัยจังหวัดหนองคาย ตำบลบ้านฝือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และบริเวณสนามบินวัดไต เมืองศรีโคตรตะบองกำแพงนครเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งหกเป็นคนไทยได้กระทำความผิดโดยมีส่วนของการกระทำในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นและเป็นผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ชิ้นส่วนกางเกง เสื้อ เศษเสื้อผ้า อินทรธนูผ้า รองเท้าผ้าใบ หัวเข็มขัดโลหะตะขอกางเกง กุญแจมือ ถุงพลาสติก กระดาษกาวที่จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง และต่อมาติดตามยึดได้เงินดอลลาร์-สหรัฐ ๑,๔๐๘,๓๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ กับเงินไทย ๑๔,๗๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จากการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถูกปล้นดังกล่าว อันเป็นเงินส่วนหนึ่งของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายรับคืนไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี,๘๓ ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนเงินดอลลาร์สหรัฐ ๑๑,๘๘๑.๓๒ดอลลาร์สหรัฐ หรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๓๐๑,๔๒๙.๐๙ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง, ๓๔๐ ตรี จำคุก ๓๐ ปี จำเลยที่ ๒ที่ ๓ และที่ ๖ มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ จำคุกคนละ๑๐ ปี ริบของกลาง ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๖ ร่วมกันคืนเงินดอลลาร์สหรัฐ๑๑,๘๘๑.๓๒ ดอลลาร์สหรัฐ หรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๓๐๑,๔๒๙.๐๙ บาท แก่ผู้เสียหาย ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๖ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๓และที่ ๖ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ กับพวกอีกหลายคนร่วมกันปล้นเงินดอลลาร์สหรัฐ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ของธนาคารการค้าต่างประเทศ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยจำเลยที่ ๑ กับพวกอีก ๒ คน แต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจลาวและใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะยิง นายเคลือบ อินสาร กับพวกรวม ๖ คน ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเงินดังกล่าวกับใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๖ กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ ๓ โจทก์มีร้อยตรีสมชัย ชื่นหล้า เบิกความ-เป็นพยานว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๓๕ นายทุยหรือสังคม อ้วนศรีเมืองมาพบพยานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคุยกันเกี่ยวกับเรื่องปล้นเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะนำจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนามโดยทางเครื่องบินมาลงที่สนามบินวัดไต กำแพงนครเวียงจันทน์โดยนายทุยหรือสังคมตกลงจะร่วมทำการปล้นเงินด้วย ต่อมาปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๓๕ พยานเดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับนางลำหรือสำเนียง สิงห์โนนทัน ภริยานายทุยหรือสังคม นายทุยหรือสังคมขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๓ มารับพยานไปที่บ้านจำเลยที่ ๓ และแนะนำให้พยานรู้จักกับจำเลยที่ ๓ พยานได้เล่ารายละเอียดเรื่องที่จะมีการนำเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และชักชวนจำเลยที่ ๓ ให้ร่วมทำการปล้นเงินด้วย จำเลยที่ ๓ ตกลงโดยร่วมปรึกษาวางแผนและจัดหาเครื่องวิทยุสื่อสารกุญแจมือ กับกระดาษกาวเพื่อใช้ในการปล้นเงิน วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ ๓ พานายทุยหรือสังคมกับพยานไปซื้อกุญแจมือ ๕ คู่ รวมกับกุญแจมือส่วนตัวของจำเลยที่ ๓ อีก ๑ คู่มอบให้แก่พยานและขับรถยนต์ไปส่งพยานลงเรือข้ามฝั่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๕ นายสมภารข้ามมาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนำวิทยุสื่อสาร ๑ เครื่อง และกระดาษกาว ๑ ม้วน ของจำเลยที่ ๓ มามอบให้แก่พยาน วันที่ ๒๕ กรกฎาคม๒๕๓๕ พยานเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อปรึกษาเรื่องเปลี่ยนจุดข้ามแม่น้ำโขงไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันไปทำการปล้นเงิน คืนนั้นพยานพักที่บ้านจำเลยที่ ๓ รุ่งขึ้นจำเลยที่ ๓ ขับรถยนต์ไปส่งพยานลงเรือกลับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เห็นว่า คำเบิกความของร้อยตรีสมชัย แม้จะมีลักษณะเป็นคำชัดทอดของผู้กระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำเบิกความเช่นว่านั้น หากคำชัดทอดชอบด้วยเหตุผลให้รับฟังว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้น ศาลก็มีอำนาจรับฟังคำชัดทอดนั้นประกอบการพิจารณาได้ นอกจากร้อยตรีสมชัยแล้ว โจทก์มีสิบตำรวจตรีอติพัฒน์เบิกความเป็นพยานสนับสนุนว่า ก่อนเกิดเหตุปล้นเงิน ๑ วัน คือวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๕ จำเลยที่ ๒ สั่งให้พยานไปรับนายทุยหรือสังคมกับนางลำหรือสำเนียงที่บ้านจำเลยที่ ๓ เพื่อส่งลงเรือข้ามฝั่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และหลังจากปล้นเงินแล้ว ๑ วันคือวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๕ มีการรับประทานอาหารค่ำร่วมกันที่โรงแรมแก่นอินน์พยานได้ยินจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กับนางลำหรือสำเนียงพูดเรื่องการแบ่งเงินรางวัลที่ได้จากการปล้นเงินดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ ๓ ยอมให้ที่พักแก่นายทุยหรือสังคมกับนางลำหรือสำเนียงซึ่งเป็นตัวการสำคัญก่อนไปปล้นเงินและคุยเกี่ยวกับเรื่องเงินรางวัลที่ได้มาจากการปล้นเงินดังกล่าวส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ ๓ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นเงินรายนี้ ตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลยที่ ๓ ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๓ มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความให้เป็นผลร้ายหรือปรักปรำจำเลยที่ ๓ ทั้งคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองก็สอดคล้องกับคำเบิกความของพลตำรวจโทประจิตต์ แสงสุบิน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งที่เบิกความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ พยานไปประเทศสาธารณรัฐ-ประชาธิปไตยประชาชนลาวและสอบสวนจำเลยที่ ๓ ซึ่งถูกนำตัวไปที่ประเทศดังกล่าวด้วย จำเลยที่ ๓ ยอมรับว่าได้ร่วมวางแผนในการปล้นเงินกับจำเลยที่ ๒ และได้รับเงินส่วนแบ่งจากการปล้นเงินรายนี้ และพลตำรวจโทประชา พรหมนอก พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า จากการสอบถามจำเลยที่ ๒ ยอมรับว่าได้แบ่งเงินที่ได้จากการปล้นเงินรายนี้ให้แก่จำเลยที่ ๓ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท กับตามทางสอบสวนคนร้ายที่ปล้นเงินรายนี้มีทั้งคนไทยและคนลาว เฉพาะคนไทยมี ๑๑ คน โดยมีจำเลยที่ ๓ รวมอยู่ด้วย พยานโจทก์ทั้งสองเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจำเลยที่ ๓ ย่อมไม่มีเหตุที่จะปรักปรำจำเลยที่ ๓ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักให้รับฟังได้ นอกจากนี้ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายอุดม มาทะขันเอกสารหมาย ป.จ.๑ (ศาลจังหวัดเลย) ซึ่งนายอุดมให้การภายหลังเกิดเหตุเพียง๒ วัน ไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อช่วยเหลือหรือปรักปรำผู้ใด ก็ได้ความว่าจำเลยที่ ๓ร่วมชักชวนนายอุดมให้ร่วมปล้นเงินด้วย แม้ในชั้นพิจารณานายอุดมจะมิได้ให้การพาดพิงถึงจำเลยที่ ๓ และอ้างว่าบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวไม่ตรงความเป็นจริงแต่ปรากฏว่านายอุดมให้การเพิ่มเติมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ต่อพลตำรวจตรีแหลมทอง ญาณอุบล กลับขอยืนยันตามคำให้การเดิม ทั้งยังได้ชี้ตัวจำเลยที่ ๓ ว่าร่วมวางแผนในการปล้นเงินด้วยตามใบต่อคำให้การของนายอุดม บันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหา และภาพถ่ายประกอบการชี้ตัวเอกสารและภาพถ่ายหมาย จ.๓๘ จ.๔๐และ จ.๔๓ ตามลำดับ โดยโจทก์มีพลตำรวจตรีแหลมทองเบิกความรับรองเอกสารและภาพถ่ายดังกล่าวน่าเชื่อว่า นายอุดมเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ ๓มากกว่าเมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวมาทั้งหมดมีข้อเท็จจริงต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุผล เชื่อว่า จำเลยที่ ๓ มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการปล้นเงินรายนี้ แม้จำเลยที่ ๓ จะมิได้อยู่ในฐานะเป็นตัวการในการปล้นเงินเพราะขณะทำการปล้นเงินจำเลยที่ ๓ อยู่ที่ประเทศไทยก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๓ ที่ร่วมวางแผนปรึกษากับผู้ร่วมกระทำความผิดเพื่อจะไปปล้นเงินดอลลาร์สหรัฐดังกล่าวและให้ความช่วยเหลือด้วย การจัดหาวิทยุสื่อสาร กุญแจมือและกระดาษกาวซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปล้นเงินให้แก่ร้อยตรีสมชัยตัวการในการปล้นเงินก่อนมีการกระทำความผิด ถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ข้อนำสืบปฎิเสธของจำเลยที่ ๓ ที่อ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการปล้นเงินรายนี้ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยที่ ๓ จึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สำหรับจำเลยที่ ๖ โจทก์มีสิบตำรวจตรีอติพัฒน์เบิกความเป็นพยานว่า ก่อนการปล้นเงิน ๑ วัน คือวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๕ จำเลยที่ ๒ ให้พยานกับจำเลยที่ ๖ ขับรถยนต์ไปรับนายทุยหรือสังคมที่บ้านจำเลยที่ ๓ และไปส่งนายทุยหรือสังคม นางลำหรือสำเนียงกับจำเลยที่ ๑ ที่บ้านเป็งจานให้คนทั้งสามลงเรือข้ามฝั่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่นางลำหรือสำเนียงนั่งเรือลำเดิมย้อนกลับมา วันรุ่งขึ้นพยานกับจำเลยที่ ๖ ไปที่บ้านผาตั้งตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ โดยมีนางลำหรือสำเนียงเป็นคนนำทาง พบนายเดช นางลำหรือสำเนียงบอกพยานกับนายเดชให้รอรับจำเลยที่ ๑ กับพวกที่จะข้ามฝั่งมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนจำเลยที่ ๖ กับนางลำหรือสำเนียงขับรถยนต์ออกไปด้วยกัน ต่อมาคืนวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๕ พยานกับจำเลยที่ ๖ ไปร่วมรับประทานอาหารกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กับพวกที่ห้องอาหารในโรงแรมแก่นอินน์ ระหว่างนั้นมีการพูดแบ่งเงินรางวัลที่ได้มาจากการปล้นเงินดังกล่าว และโจทก์มีร้อยตำรวจโทกิตติพงษ์ ยี่วาศรี กับนายดาบตำรวจสถิตย์ ลักขณัติ เบิกความเป็นพยานว่า ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๕ขณะพยานทั้งสองทำหน้าที่เป็นสายตรวจที่บ้านท่าม่วง ตำบลรัตนวาปี อำเภอโพนพิสัยเห็นรถยนต์กระบะแล่นเข้ามาในหมู่บ้าน มีคนอยู่ในรถยนต์ ๕ คน สักครู่รถยนต์คันดังกล่าวแล่นออกจากหมู่บ้านไป ต่อมานางน้อย คำวงษา มาบอกพยานทั้งสองว่า มีคนว่าจ้างนางน้อยให้นำเรือไปรับนายทุยหรือสังคมที่ฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๕ โดยให้ค่าจ้าง ๔,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ บาทนางน้อยสงสัยว่าจะมีการนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย วันรุ่งขึ้นพยานทั้งสองไปดักซุ่มดูเหตุการณ์ เวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา มีคนมาแจ้งว่ามีรถยนต์กระบะแล่นเข้ามาในหมู่บ้าน ต่อมาพยานทั้งสองเห็นนางน้อยขับเรือข้ามไปฝั่งประเทศสาธารณรัฐ-ประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา เรือของนางน้อยแล่นกลับมา และมีชายคนหนึ่งยืนอยู่ริมฝั่งถอดเสื้อคลุมออกแล้วใช้เสื้อคลุมโบกเหนือศีรษะเป็นสัญญาณให้คนที่มากับเรือของนางน้อยได้มองเห็น เมื่อเรือมาถึงฝั่ง พยานโจทก์ทั้งสองออกมาจากที่ซุ่ม แสดงตัวขอตรวจค้น ชายที่ใช้เสื้อคลุมโบกเหนือศีรษะแสดงบัตรประจำตัวข้าราชการว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและเป็นจำเลยที่ ๖ ส่วนคนที่มากับเรือของนางน้อยคือนายทุยหรือสังคมและนางลำหรือสำเนียง คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามมีข้อเท็จจริงต่อเนื่องเชื่อมโยงและสอดคล้องต้องกันโดยเฉพาะในส่วนที่จำเลยที่ ๖ เข้าไปมีส่วนพัวพันกับผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหลายครั้งหลายหน น่าเชื่อว่า จำเลยที่ ๖ จะต้องรู้เห็นกับการกระทำความผิดด้วย ทั้งพันตำรวจตรีปัญญา ปุยนุเคราะห์ พยานโจทก์ก็เบิกความสนับสนุนว่าจากการสอบคำให้การจำเลยที่ ๑ ซึ่งให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนก็พาดพิงถึงจำเลยที่ ๖ ว่ามีส่วนร่วมในการปล้นเงินด้วย ตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลยที่ ๖ ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๖ มาก่อนจึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำหรือให้ร้ายจำเลยที่ ๖ ที่จำเลยที่ ๖ นำสืบทำนองว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๖ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นเงินรายนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะพฤติการณ์ทั้งก่อนและหลังการปล้นเงินบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ ๖ รู้เห็นกับการปล้นเงินรายนี้ จำเลยที่ ๖ จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ โดยสุจริต แม้จำเลยที่ ๖ จะมิใช่เป็นตัวการในการปล้นเงินแต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๖ ที่ร่วมกันขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ ๑ กับพวกลงเรือข้ามฝั่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อไปปล้นเงินตามแผนการที่กำหนดไว้ทั้งยังคอยอำนวยความสะดวกด้วยการไปรอรับโบกเสื้อคลุมให้สัญญาณภายหลังที่จำเลยที่ ๑กับพวกกระทำการปล้นเงินแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ ๖ ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แก่จำเลยที่ ๑ กับพวกทั้งก่อนและหลังกระทำความผิดจำเลยที่ ๖ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ ๒ ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ฎีกาอ้างว่า ความผิดคดีนี้ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐ ให้อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษา-การแทนเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในกรณีจำเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับอยู่ในเขตอำนาจ หรือพนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอฟังคำสั่งจากอธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทน แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่ามีกรณีจำเป็นและไม่ชัดว่าพลตำรวจตรีแหลมทอง ญาณอุบล ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในภายหลังได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนไปเพียงใด ฟังไม่ได้ว่าการสอบสวนถูกต้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น คดีนี้นายสีโห บรรณวงศ์ รองประธานผู้ประจำการคณะกรรมการปกครองกำแพงนครเวียงจันทน์ มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายว่า ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจ ๔ คน โดยมีพันตำรวจเอกบัวแก้วสานเมติ เป็นหัวหน้าคณะมาสมทบกับเจ้าพนักงานตำรวจจังหวัดหนองคายเพื่อติดตามคนร้ายพร้อมของกลางมาลงโทษตามกฎหมายตามเอกสารหมาย จ.๑๘ และพันตำรวจเอกบัวแก้วได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นคนไทยต่อพันตำรวจเอกสมชัย พานิชกุล ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ตามคำร้องทุกข์เอกสารหมาย ป.จ.๒ (ศาลอาญา) ฉะนั้นพนักงานสอบสวนที่ได้รับแต่งตั้งจากพันตำรวจเอกสมชัยให้ทำการสอบสวนคดีนี้ตามคำสั่งที่ ๖๗/๒๕๓๕ เอกสารหมายจ.๑ ถือเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอฟังคำสั่งจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน โดยต้องดำเนินการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย โจทก์ไม่จำเป็นต้องสืบว่ามีกรณีจำเป็นอย่างไร เมื่อต่อมาอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พลตำรวจตรีแหลมทองเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ การสอบสวนที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ย่อมถือว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบไม่ต้องคำนึงว่าพลตำรวจตรีแหลมทองได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนเพียงใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ ๒ ในข้อต่อไปว่าพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาล โจทก์มิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานโจทก์ศาลจะรับฟังพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลได้หรือไม่ เห็นว่า แม้เอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลจะมิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานโจทก์อันไม่ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาก็ตาม แต่เอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลคดีนี้ โจทก์เพียงใช้ประกอบคำเบิกความของพยานบุคคลซึ่งได้ระบุไว้ในบัญชีพยานโจทก์ จำเลยที่ ๒ มีโอกาสซักค้านพยานบุคคลของโจทก์ที่เกี่ยวกับเอกสารทุกฉบับที่โจทก์อ้างส่งศาลได้อยู่แล้ว ไม่ทำให้จำเลยที่ ๒ เสียเปรียบหรือหลงผิดในการต่อสู้คดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารเช่นว่านี้ได้เพราะเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๘๗ (๒) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ ๒ กระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีร้อยตรีสมชัย ชื่นหล้า เบิกความว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๓๕ นายทุยหรือสังคมเดินทางมาพบพยานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและคุยกันถึงเรื่องการปล้นเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะนำจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมาลงที่สนามบินวัดไต กำแพงนครเวียงจันทน์ นายทุยหรือสังคมตกลงจะร่วมปล้นเงินดังกล่าวด้วย หลักจากนั้นพยานเดินทางมาประเทศไทยร่วมวางแผนการปล้นเงินกับนายทุยหรือสังคมและจำเลยที่ ๓กับพวก นายทุยหรือสังคมพูดกับพยานว่าอาจมีจำเลยที่ ๒ เข้าร่วมปล้นเงินดังกล่าวด้วยต่อมาวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๕ พยานเดินทางมาประเทศไทย พบนายทุยหรือสังคมกับพวก พยานแจ้งให้เปลี่ยนจุดที่จะข้ามฝั่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์กระบะมารับพยานและนายทุยหรือสังคมกับพวก นายทุยหรือสังคมแนะนำพยานให้รู้จักกับจำเลยที่ ๒ และบอกว่าจำเลยที่ ๒จะร่วมปล้นเงินด้วย หลังจากนั้นจึงพากันไปที่บ้านจำเลยที่ ๓ และมีการพูดนัดแนะกันว่า หลังจากปล้นเงินแล้วให้จำเลยที่ ๓ ไปรอรับนายทุยหรือสังคมที่อำเภอโพนพิสัยทางด้านทิศใต้ของแม่น้ำโขง ส่วนจำเลยที่ ๒ จะไปรอรับพวกลงมือปล้นเงินที่เขตรอยต่อระหว่างอำเภอสังคมกับอำเภอศรีเชียงใหม่ทางด้านทิศเหนือของแม่น้ำโขงและมีสิบตำรวจตรีอติพัฒน์เบิกความเป็นพยานว่า พยานปฏิบัติงานในชุดเฉพาะกิจร่วมกับจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๕ อันเป็นวันก่อนเกิดเหตุปล้นเงิน ๑ วันจำเลยที่ ๒ วิทยุนัดพยานกับจำเลยที่ ๖ ให้ไปพบที่ทางแยกเข้าสถานีตำรวจภูธรตำบลเวียงคุก ต่อมาจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์กระบะมาพร้อมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๕ และสั่งให้พยานขับรถยนต์ไปรับนายทุยหรือสังคมที่บ้านจำเลยที่ ๓ และให้ไปตามคำบอกของนายทุยหรือสังคม พยานไปรับนายทุยหรือสังคมรวมทั้งนางลำหรือสำเนียงและนายเซียงโดยไปกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๖ หลังจากนั้น นายทุยหรือสังคมบอกให้พยานขับรถยนต์ไปหลายแห่ง แต่เมื่อถึงบ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย นายทุยหรือสังคมให้นายเซียงลงจากรถยนต์และบอกให้นายเซียงข้ามฝั่งไปได้ จากนั้นให้พยานขับรถยนต์ไปที่บ้านเป็งจานแล้วนายทุยหรือสังคมกับจำเลยที่ ๑ และนางลำหรือสำเนียงลงเรือข้ามฝั่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาประมาณ ๓๐ นาที นางลำหรือสำเนียงนั่งเรือลำเดิมย้อนกลับมา รุ่งขึ้นวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๕ พยานกับจำเลยที่ ๖ และนางลำหรือสำเนียงไปบ้านผาตั้งตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ นางลำหรือสำเนียงพาพยานไปพบนายเดชและให้พยานกับนายเดชไปรอรับจำเลยที่ ๑ กับพวกรวม ๓ คน ที่จะข้ามฝั่งจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาขึ้นฝั่งตรงเขตรอยต่อระหว่างอำเภอศรีเชียงใหม่กับอำเภอสังคม โดยจะมีคนโบกผ้าเหนือศีรษะเป็นสัญญาณให้นายเดชนำเรือไปรับได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ กับพวกลงเรืออีกลำหนึ่งมาขึ้นฝั่งพร้อมด้วยถุงทะเลสีเขียว ๑ ถุง พวกจำเลยที่ ๑ คือนายเซียงและนายสมภารแต่งเครื่องแบบตำรวจลาวมีจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๔ ขับรถยนต์กระบะสีน้ำตาลดำไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนทั้งด้านหน้าและด้านหลังมารับจำเลยที่ ๑ กับพวกไปที่โรงแรมเจริญศรีพาเลซจังหวัดอุดรธานี ระหว่างทางจำเลยที่ ๒ หยุดรถยนต์ให้นายเซียงกับนายสมภารนำถุงทะเลและเครื่องแบบตำรวจลาวที่ถอดออกเข้าป่าละเมาะข้างทางเปลี่ยนถุงทะเลเป็นกระเป๋าผ้า แล้วเผาถุงทะเลกับเครื่องแบบตำรวจลาว วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๕จำเลยที่ ๒ บอกพยานกับจำเลยที่ ๖ ให้ไปร่วมรับประทานอาหารที่ห้องอาหารโรงแรมแก่นอินน์โดยมีนายทุยหรือสังคม นางลำ หรือสำเนียง นายเซียงและจำเลยอื่นมาร่วมด้วย จำเลยที่ ๒ สอบถามนายเซียงเกี่ยวกับเรื่องเผาเครื่องแบบตำรวจลาวและมีการพูดถึงการแบ่งเงินรางวัลที่ได้มาจากการปล้นเงิน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ ๒ มีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย ตั้งแต่มีการวางแผนกระทำความผิดจนกระทั่งภายหลังกระทำความผิดแล้ว นอกจากนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายพิชิต น้อยอุ่นแสง พยานโจทก์ว่า ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๕ อันเป็นวันเกิดเหตุปล้นเงินรายนี้ จำเลยที่ ๒ ใช้ให้คนนำรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ มาเปลี่ยนเอารถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ สีน้ำตาลของพยานไป และได้ความจากคำเบิกความของนายดำรงค์ หนันต๊ะ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า วันนั้นจำเลยที่ ๒ นำรถยนต์คันดังกล่าวมาให้พยานถอดป้ายทะเบียนรถยนต์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังออก ก่อนที่จำเลยที่ ๒ จะขับรถยนต์คันดังกล่าวไปรับจำเลยที่ ๑ กับพวกยังจุดที่นัดหมายภายหลังที่ได้มีการปล้นเงินดอลลาร์สหรัฐและนำเงินข้ามฝั่งมายังประเทศไทย พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ ๒ ประสงค์จะปกปิดการกระทำความผิดของตนเองเพื่อมิให้ผู้อื่นจำรถยนต์คันดังกล่าวได้ว่าเป็นของผู้ใด นอกจากนี้จากคำเบิกความของนางเสงี่ยม สุวรรณแสน พยานโจทก์ยังได้ความอีกว่า ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๕เวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา จำเลยที่ ๒ ถือกระเป๋าผ้าเข้ามาในบ้านพยานพร้อมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับพยานและถามหาห้องลับ พยานบอกว่าไม่มี มีแต่ห้องครัว จำเลยที่ ๒ ขอเข้าไปห้องครัวเพื่อตรวจสอบกระเป๋าที่ถือมา ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ ต้องการทราบว่ามีเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้มาจากการปล้นอยู่ในกระเป๋าผ้าหรือไม่ ตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลยที่ ๒ ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทุกปากดังกล่าวเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๒ มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าพยานจะเบิกความให้เป็นผลร้ายหรือปรักปรำจำเลยที่ ๒ ที่จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า กรณีเป็นเรื่องปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยนายทุยหรือสังคมสายลับจำเลยที่ ๒ ไปล่อให้พ่อค้าซื้อขายฝิ่นและเงินดอลลาร์สหรัฐปลอมจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวข้ามฝั่งมาประเทศไทยเพื่อให้จำเลยที่ ๒ จับกุม แต่ปรากฏว่าคนที่ข้ามฝั่งมาประเทศไทย คือจำเลยที่ ๑ นายเซียงและนายสมภาร ส่วนถุงทะเลที่นำเข้ามานายเซียงอ้างว่าเป็นถุงเสื้อผ้าของนายทุยหรือสังคมซึ่งจะตามมาที่หลัง ระหว่างที่จำเลยที่ ๒ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ ๑ กับนายเซียงและนายสมภารไปจังหวัดอุดรธานี นายเซียงและนายสมภารขอเปลี่ยนเสื้อผ้า และเปลี่ยนถุงทะเลเป็นกระเป๋าผ้าในป่าละเมาะข้างทาง ต่อมาเมื่อจำเลยที่ ๑ เปิดกระเป๋าผ้าดังกล่าวพบว่ามีเงินดอลลาร์สหรัฐผูกด้วยเชือกแดง ๒๐ มัด จำเลยที่ ๒ เข้าใจว่าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐปลอมนั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะนอกจากจะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ได้มีการลงบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่จำเลยที่ ๒ เข้าใจว่าปลอมไว้เป็นหลักฐานแล้ว ยังได้ความจากพลตำรวจโทประจิตต์ แสงสุบิน และพลตำรวจโทประชาพรหมนอก พยานโจทก์ว่า หลังจากเกิดเหตุพยานทั้งสองเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนำตัวจำเลยที่ ๒ ไปด้วย จากการสอบสวน จำเลยที่ ๒ ยอมรับว่ามีส่วนรู้เห็นในการปล้นเงินดอลลาร์สหรัฐรายนี้ โดยเงินของกลางจำนวนหนึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๒ และได้มีการแบ่งเงินของกลางให้แก่บุคคลหลายคน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการปล้นเงินรายนี้ แม้จำเลยที่ ๒ จะไม่อยู่ในฐานะเป็นตัวการเพราะขณะทำการปล้นเงินจำเลยที่ ๒ อยู่ที่ประเทศไทย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๒ที่ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ ๑ กับพวกเพื่อไปปล้นเงินดอลลาร์สหรัฐและให้คนของจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ ๑ กับพวกลงเรือข้ามฝั่งไปปล้นเงินที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้หลังจากทำการปล้นเงินแล้ว จำเลยที่ ๒ ยังขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ ๑ กับพวกพร้อมเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้จากการปล้น ถือได้ว่า จำเลยที่ ๒ให้การช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ทั้งก่อนและหลังกระทำความผิด จำเลยที่ ๒ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นความผิดตามกฎหมายแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหรือไม่และมีกำหนดโทษเพียงใด จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ ๒ ในสถานเบานั้น เห็นว่าความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานปล้นทรัพย์นี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๘ มิได้กำหนดให้โจทก์จำต้องสืบว่า เป็นการกระทำที่กฎหมายในประเทศสาธารณรัฐ-ประชาธิปไตยประชาชนลาวบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้เพียงใด ทั้งการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นความผิดที่ได้ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๘ (๙) เมื่อจำเลยที่ ๒ ผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษแล้ว ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ ในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาได้ กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ ๒ ในสถานเบาด้วยเหตุดังที่จำเลยที่ ๒ ฎีกา ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและลดโทษให้แก่จำเลยที่ ๒ เพราะมีเหตุบรรเทาโทษโดยได้มีการคืนเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจำเลยที่ ๒มีส่วนช่วยติดตามนำเงินมาคืนนั้น เห็นว่า การติดตามนำเงินของกลางมาคืนให้แก่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมิได้เกิดจากการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของจำเลยที่ ๒ หากแต่เกิดจากพลตำรวจโทประชาผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจำเลยที่ ๒ สั่งให้มีการติดตามเอาเงินคืนจากผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งจากการปล้นเงินรายนี้ จึงไม่อาจอ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ คดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดอันร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุสมควรลดโทษให้แก่จำเลยที่ ๒ได้อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ ๓ และที่ ๖ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.