แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีว่า ที่ดินพิพาทราคาไร่ละ 4,000 บาท ที่ดิน 49 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา เป็นเงิน 198,000 บาท และโจทก์ได้เสียค่าขึ้นศาล ในศาลชั้นต้นโดยถือทุนทรัพย์ดังกล่าว การที่โจทก์ ตั้งทุนทรัพย์ไว้ในชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีการะบุทุนทรัพย์จำนวน 250,000 บาท เป็นเรื่องที่โจทก์เพิ่มจำนวน ทุนทรัพย์ขึ้นเองโดยพลการ เพื่อการใช้สิทธิฎีกาในภายหลัง ทั้ง ๆ ที่โจทก์เองทราบดีว่าราคาทรัพย์พิพาทที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นมีเพียงใด แต่โจทก์ก็มิได้ดำเนินการให้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจ หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ รับรอง หรืออนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเสียให้ถูกต้องขณะยื่นฎีกา กรณีจึงเป็นไปในลักษณะโจทก์จงใจหรือละเลยไม่ดำเนินการ พิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาซึ่งกฎหมายกำหนด ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะดำเนินกระบวนพิจารณานี้ใหม่อีก โจทก์ฎีกาและศาลฎีกาพิพากษายกฎีกาโจทก์ไปแล้วต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้อง ของ โจทก์ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตเป็นหนังสือ ให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงอีกและศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าวนั้น มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้น ไม่ยอมรับฎีกาโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 252 โจทก์จึงใช้สิทธิฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยตรงมายังศาลฎีกาไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาโจทก์ข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 69 หมู่ที่ 4 ตำบลนากลาง อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นของโจทก์เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นแต่เพียงผู้ครอบครองแทนจำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าทุนทรัพย์ชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาโจทก์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมาย พิพากษายกฎีกา
โจทก์ยื่นคำร้องสองฉบับ ฉบับแรกขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งรับฎีกาซึ่งผิดระเบียบเพื่อที่โจทก์จะยื่นฎีกาใหม่ฉบับที่สองขอให้ศาลชั้นต้นส่งฎีกาของโจทก์ไปให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องทั้งสองฉบับแล้ว ฉบับแรกมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และฉบับที่สองไม่ส่งฎีกาโจทก์ไปให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองตามคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือในข้อเท็จจริง ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2541
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับรองฎีกาอีก
โจทก์ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เรื่องนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีไว้ชัดแจ้งว่าราคาที่ดินพิพาทไร่ละ 4,000 บาทที่ดิน 49 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา เป็นเงิน 198,000 บาทและโจทก์ได้เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นโดยถือทุนทรัพย์ดังกล่าวเมื่อฎีกาโจทก์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง และทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น การที่โจทก์ตั้งทุนทรัพย์ไว้ในชั้นอุทธรณ์ ตามอุทธรณ์โจทก์ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2537 และชั้นฎีกา ตามฎีกาโจทก์ฉบับลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 จำนวน 250,000 บาทนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์เพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ขึ้นเองโดยพลการอันน่าจะเพื่อการใช้สิทธิฎีกาในภายหลังโดยเฉพาะ เพราะนอกจากด้วยเหตุดังกล่าวแล้วก็แทบไม่มีประโยชน์อย่างอื่นแก่คดีของโจทก์เลยโจทก์จึงได้เตรียมการไว้ตั้งแต่ชั้นศาลอุทธรณ์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์เองทราบดีว่าราคาทรัพย์พิพาทที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นมีเพียงใด แต่โจทก์ก็มิได้ดำเนินการให้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 2 ผู้มีอำนาจ ตลอดจนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้รับรองหรืออนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเสียให้ถูกต้องขณะยื่นฎีกาพฤติการณ์จึงเป็นไปในลักษณะโจทก์จงใจหรือละเลยไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาซึ่งกฎหมายกำหนด จึงไม่มีเหตุที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้นใหม่อีก ดังนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และฎีกาคำสั่งคำร้องของโจทก์ต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งคำร้อง ของ โจทก์ฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตเป็นหนังสือให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงนั้นโจทก์ฎีกาคำสั่งดังกล่าวได้หรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกาให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมกับฎีกา” แต่เรื่องนี้มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกาโจทก์ โจทก์จึงจะใช้สิทธิฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมายังศาลฎีกาไม่ได้ถือเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายที่อ้างถึงข้างต้น ด้วยเหตุนี้แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาโจทก์ข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัย
พิพากษายืน ข้อที่โจทก์ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และให้ยกฎีกาข้อที่โจทก์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนนี้ทั้งหมดแก่โจทก์