คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ.2495ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดนั้นไม่มีมาตราใดบัญญัติกำหนดโทษผู้กระทำผิดไว้และไม่ว่าตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล(ฉบับที่3)พ.ศ.2528มาตรา3ได้ให้ยกเลิกความในมาตรา7แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ.2495และให้ใช้ข้อความใหม่แทนได้บัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายของมาตรา7ว่า”การเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามความใน(4)ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลม”ก็ตามแต่ก็มีเจตนารมณ์เพียงว่าในการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามมาตรา7(4)นั้นให้นำแต่เฉพาะวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้นทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลไว้มิได้หมายความว่าให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้ทั้งหมดการอนุโลมต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้นจะนำเอาบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ.2482มาตรา72ซึ่งอยู่ในหมวด9อันเป็นเรื่องบทกำหนดโทษมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยหาไม่ได้ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้กรณีเช่นนี้ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา2วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2538 เวลากลางวันอันเป็นวันเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์ จำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาล พระสมุทรเจดีย์ หน่วยเลือกตั้งที่ 1โรงเรียนคลองสองพี่น้อง ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีสิทธิเลือกตั้งและไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 7 พระราชบัญญัติสุขาภิบาล (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2528 มาตรา 3 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ. 2482 มาตรา 72 และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลา 4 ปี
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา โดย อัยการ สูงสุด รับรอง ให้ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” แต่ปรากฏว่าตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ไม่มีมาตราใดบัญญัติกำหนดโทษผู้กระทำผิดไว้และตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 3 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนได้บัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ว่า “การเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามความใน (4) ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลม”ซึ่งก็มีเจตนารมณ์เพียงว่า ในการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามมาตรา 7(4) นั้น ให้นำแต่เฉพาะวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลไว้ มิได้หมายความว่าให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้ทั้งหมด การอนุโลมต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้น จะนำเอาบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 72 ซึ่งอยู่ในหมวด 9 อันเป็นเรื่องบทกำหนดโทษมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยดังที่โจทก์ฎีกาหาไม่ได้ ฉะนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาล ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้กรณีเช่นนี้ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรกดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน

Share