คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5023/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นนายจ้างผิดสัญญาการจ้างแก่โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาการจ้างทำงานแทนบริษัทนายจ้างตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ทั้งเจ็ด เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้แรงงานให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองผู้ใช้แรงงานไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยห้ามไม่ให้นายจ้างกระทำการบางอย่างและให้ลูกจ้างมีสิทธิบางอย่างนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น หาได้บัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้างที่จะพึงมีพึงได้ตามกฎหมายอื่นไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะที่จำเลยเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ และเป็นตัวแทนทำสัญญาการจ้างแทนบริษัท ซ. ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ อันเป็นการเรียกร้องให้ได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ศาลแรงงานกลางจึงนำ ป.พ.พ. มาตรา 824 มาใช้บังคับได้

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียว โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และเรียกจำเลยทั้งเจ็ดสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องจำเลยเป็นใจความว่า จำเลยเป็นบริษัทจัดหางาน ตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และเป็นตัวแทนของบริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นายจ้าง ตัวการซึ่งอยู่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โจทก์ทั้งเจ็ดเดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2546 และเริ่มทำงานในวันที่ 3 มีนาคม 2546 ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2546 บริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ส่งโจทก์ทั้งเจ็ดกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญา ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียหาย ขาดค่าจ้างที่ควรจะได้รับคนละ 6 เดือนครึ่ง เป็นเงิน 3,250 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 133,250 บาท จำเลยในฐานะตัวแทนทำสัญญาการจ้างแทนนายจ้างซึ่งเป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ และเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดตามความหมายของกฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดคนละ 133,250 บาท
จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การว่า จำเลยมิได้เป็นตัวแทนที่จะถือว่าเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งเจ็ด เพราะผู้ที่จะถือว่าเป็นนายจ้างตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 (3) จะต้องเป็นบุคคลทั่วไปที่จัดหาคนงานให้แก่นายจ้าง ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นบริษัทจัดหางานตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ส่งโจทก์ทั้งเจ็ดไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้แก่บริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นายจ้าง ซึ่งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเป็นตัวแทนทำสัญญาการจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดทำงานดังกล่าวแทนบริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2546 บริษัทดังกล่าวได้ส่งโจทก์ทั้งเจ็ดกลับประเทศไทย อันเป็นการผิดสัญญาการจ้าง ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะเป็นตัวแทนทำสัญญาการจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดแทนบริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งเจ็ดแต่ลำพังตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงอายุ ระยะเวลาการทำงานและความเดือดร้อนของโจทก์ทั้งเจ็ดแล้ว สมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งเจ็ดคนละ 40,000 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งเจ็ดคนละ 40,000 บาท
จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่บริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างผิดสัญญาการจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาการจ้าง โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานแทนบริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 มิได้พิพากษาให้จำเลยรับผิดในฐานะที่เป็นนายจ้าง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ทั้งเจ็ดตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 (3) จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดนั้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ป.พ.พ. มาตรา 824 เป็นบทบัญญัติทั่วไป จะนำมาใช้บังคับแก่คดีแรงงานซึ่งมี พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ได้นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้แรงงานให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองผู้ใช้แรงงานไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยห้ามไม่ให้นายจ้างกระทำการบางอย่างและให้ลูกจ้างมีสิทธิบางอย่างนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น หาได้บัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้างที่จะพึงมีพึงได้ตามกฎหมายอื่นไม่ ดังจะเห็นได้จากความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติว่า “การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น” คดีนี้นอกจากโจทก์ทั้งเจ็ดจะฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะที่จำเลยเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 แล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดยังฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาการจ้างแทนบริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ อันเป็นการเรียกร้องให้ได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ด้วย ศาลแรงงานกลางจึงนำ ป.พ.พ. มาตรา 824 มาใช้บังคับได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share