แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำเบิกความของจำเลยตอบโจทก์ถามค้านว่าเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกมาก่อน ย่อมใช้ยันจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 233 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน
ฎีกาของจำเลยที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนตามคำเบิกความของจำเลยเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องการให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อจะได้วินิจฉัยว่ามีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นฎีกาที่บิดเบือนปัญหาข้อเท็จจริงให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 81, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จ่าสิบเอกจำเนียร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาพยาบาลและดำเนินการเกี่ยวกับคดี 10,000 บาท ค่ารักษาตัวต่อเนื่อง ค่าที่ไม่สามารถประกอบการงานในปัจจุบันและอนาคต 40,000 บาท และค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า คำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏข้อความที่โจทก์ระบุว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์เพิ่มเติมบวกโทษจำคุกแก่จำเลย และโจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนตามคำเบิกความของจำเลยจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและวินิจฉัยในทางที่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยพิจารณาพิพากษาไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวข้างต้นต้องการให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเพื่อจะได้วินิจฉัยว่ามีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลและเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นฎีกาที่บิดเบือนปัญหาข้อเท็จจริงให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น ดังนี้ ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้างในฎีกาจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 233 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้” เมื่อจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรในข้อหามีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลจังหวัดกำแพงเพชรพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 9 เดือน จำเลยพ้นโทษเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 คำเบิกความของจำเลยจึงใช้ยันจำเลยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน