แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 มีหนังสือเชิญหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบ แต่โจทก์อ้างว่ายังรวบรวมเอกสารไม่เสร็จ จึงไม่ได้ไปพบโดยมิได้แจ้งพนักงานของจำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบเพื่อให้ถ้อยคำประกอบการตรวจสอบไต่สวนและให้นำเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไปส่งมอบ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ได้โทรศัพท์ไปขอเลื่อนนัดถึง 3 ครั้ง โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานบัญชีเกี่ยวกับเอกสารที่จะต้องนำไปส่งมอบ เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามหมายเรียก แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็มิได้ไปพบหรือส่งมอบเอกสารแต่อย่างใด หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหนังสือเชิญพบอีก 2 ครั้ง เพื่อรับทราบผลการตรวจสอบภาษี แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็มิได้ไปพบ พฤติการณ์ของโจทก์ที่เพิกเฉย เป็นการไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 88 (3) แม้โจทก์นำส่งเอกสารในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นคนละขั้นตอนกับในชั้นตรวจสอบ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์การประเมินจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 88/5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 2010060/5/103891 ถึง 103914 จำนวน 24 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ส.ภ.2/อธ.1/30.2/21/2547 และให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 2010060/5/103891 ถึง 103914 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.1/30.2/21/2547 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ค.10) เป็นเงินสดต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2544 และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 ได้เข้าตรวจปฏิบัติการ ณ สถานประกอบการของโจทก์ และวันที่ 19 มีนาคม 2545 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ส่งหนังสือเชิญหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบในวันที่ 10 เมษายน 2545 ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม 2545 เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียก ให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ 18 ตุลาคม 2545 เวลา 10 นาฬิกา เพื่อให้ถ้อยคำประกอบการตรวจสอบไต่สวน และให้นำเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไปส่งมอบให้เจ้าพนักงานประเมินด้วย แต่ก่อนถึงวันนัดนางสาวนิศากร ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้โทรศัพท์ขอเลื่อนนัดและหลังจากนั้นได้โทรศัพท์ขอเลื่อนนัดอีก 2 ครั้ง ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2545 เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหนังสือเตือน ให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 เวลา 10 นาฬิกา พร้อมนำเอกสารหลักฐานไปส่งมอบด้วย หลังจากนั้น วันที่ 24 มีนาคม 2546 เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหนังสือเชิญให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ 4 เมษายน 2546 เวลา 10 นาฬิกา เพื่อรับทราบผลการตรวจสอบภาษีอากร และวันที่ 21 เมษายน 2546 เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหนังสือเชิญครั้งที่ 2 เพื่อรับทราบผลการตรวจสอบภาษีอากร ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 นางสาวนิศากรได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มจากเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์โจทก์ได้ส่งต้นฉบับใบกำกับภาษีซื้อและสำเนาใบกำกับภาษีขายกับเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เห็นว่า ในการตรวจปฏิบัติการ ณ สถานประกอบการของโจทก์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2544 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้แจ้งให้โจทก์นำส่งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มและเอกสารทางทะเบียนของโจทก์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็ไม่มาพบหรือส่งมอบเอกสารแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ไปที่สถานประกอบการของโจทก์เพื่อตรวจปฏิบัติการครั้งที่ 2 แต่สถานประกอบการของโจทก์ปิด และไม่มีเจ้าหน้าที่ของโจทก์อยู่ จากนั้นวันที่ 19 มีนาคม 2545 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ส่งหนังสือเชิญหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบในวันที่ 10 เมษายน 2545 แต่โจทก์อ้างว่ายังรวบรวมเอกสารไม่เสร็จ จึงไม่ได้ไปพบโดยมิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม 2545 เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบในวันที่ 18 ตุลาคม 2545 เพื่อให้ถ้อยคำประกอบการตรวจสอบไต่สวน และให้นำเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไปส่งมอบ ก็ปรากฏว่านางสาวนิศากรผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ได้โทรศัพท์ไปขอเลื่อนนัดถึง 3 ครั้ง โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานบัญชีเกี่ยวกับเอกสารที่จะต้องนำไปส่งมอบ แต่นางสาวนิศากรก็มิได้ไปพบหรือส่งมอบเอกสารต่อเจ้าพนักงานประเมิน วันที่ 29 ตุลาคม 2545 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามหมายเรียก โดยให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็มิได้ไปพบหรือส่งมอบเอกสารต่อเจ้าพนักงานประเมินแต่อย่างใด และนางสาวนิศากรผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ก็เบิกความรับว่า ได้ไปที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10 ภายหลังจากกำหนดวันนัด แต่ไม่พบนางสาวพิศมัย เจ้าพนักงานสรรพากรผู้รับผิดชอบ โดยในวันดังกล่าวนางสาวนิศากรได้นำเพียงหนังสือรับรองของโจทก์ไปแสดง ส่วนเอกสารอื่นอ้างว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมยังไม่แล้วเสร็จ หลังจากนั้นวันที่ 24 มีนาคม 2546 เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหนังสือเชิญพบเพื่อรับทราบผลการตรวจสอบภาษีอากรให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบในวันที่ 4 เมษายน 2546 แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็มิได้ไปพบ ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2546 เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือเชิญพบครั้งที่ 2 ให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบในวันที่ 28 เมษายน 2546 แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็ไม่ไปพบ พฤติการณ์ของโจทก์ที่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกโดยไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินตามกำหนดเวลาและไม่ส่งมอบบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพื่อทำการตรวจสอบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 (3) แม้โจทก์นำส่งเอกสารหลักฐานในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ ก็เป็นคนละขั้นตอนกับในชั้นตรวจสอบ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ การประเมินดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88/5 การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.