คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของโจทก์ร่วมไปในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 วิ่งอ้อมไปทางด้านหลังและขว้างสร้อยคอและพระดังกล่าวทิ้งที่พงหญ้ามีน้ำขังห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากโจทก์ร่วมแล้ว และมีลักษณะเป็นการฉกฉวยซึ่งหน้าโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ การที่จำเลยที่ 1 ขว้างทรัพย์ทิ้งหลังจากวิ่งไปแล้ว 20 เมตร เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไปได้
ป.อ. มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและ ป.วิ.อ. มาตรา 158 ก็มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่างเวลากัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 336 และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 20,000 บาท ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายณัฐพงศ์ ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุกคนละ 1 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,000 บาท ฐานวิ่งราวทรัพย์ จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 1 เดือน สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 กระชากเอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของโจทก์ร่วมไปในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมแล้ววิ่งอ้อมออกไปทางด้านหลังขว้างทิ้งที่พงหญ้ามีน้ำขังห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การที่จำเลยที่ 1 ขว้างทิ้งไปภายหลังจากวิ่งไปแล้ว 20 เมตร แสดงว่าเจตนาขว้างทิ้งเพิ่งเกิดขึ้นในภายหลังจึงไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้นดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปซึ่งหน้าโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ แต่ในท้ายคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำเลยที่ 1 หลายกรรมเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ก็มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่างเวลากัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share