แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อไม่มีการแก้ไขสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ให้มีความชัดเจนในเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 5 ว่าจะต้องรับผิดในจำนวนเท่าใดทั้ง ๆ ที่มีช่องว่างให้เติมตัวเลขหรือข้อความแล้ว ย่อมเป็นกรณีที่มีข้อสงสัย จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งฝ่ายโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 6 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 4 รับผิดในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท แล้วก็จะต้องฟังว่า โจทก์มีเจตนายอมให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่จำกัดวงเงินตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,137,416.86 บาท ส่วนจำเลยที่ 6 ให้ชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 7,137,416.86 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้ใช้เงินคนละ 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี (ที่ถูกของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวด้วย) นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 ตุลาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าทนายความให้ตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่จำกัดวงเงินหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ทำไว้มิได้ระบุจำนวนวงเงินความรับผิด แต่มีการขีดเครื่องหมายในช่องที่เว้นว่างให้ระบุจำนวนเงิน จำเลยที่ 5 มีตำแหน่งหน้าที่ต่างกับจำเลยที่ 6 แสดงว่าจำเลยที่ 5 มิได้หลงลืม เมื่อจำเลยที่ 5 มิได้ขีดฆ่าข้อความอื่นใดในสัญญาฉบับดังกล่าวจึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 4 โดยไม่จำกัดจำนวน ซึ่งในข้อนี้ตัวจำเลยที่ 5 เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 6 นำแบบฟอร์มสัญญาค้ำประกันมาขอให้จำเลยที่ 5 ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองตรังในขณะนั้นช่วยค้ำประกันจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรชายจำเลยที่ 6 ที่ได้รับบรรจุแต่งตั้งเป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งยามโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง โดยจำเลยที่ 6 บอกว่าประกันความเสียหายในวงเงิน 20,000 บาท และจำเลยที่ 6 ได้เอาสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 มาให้จำเลยที่ 5 ดูด้วย จำเลยที่ 5 เห็นว่าจำเลยที่ 5 รู้จักจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นคนขับรถของรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และตำแหน่งยามมีขอบเขตรับผิดชอบไม่เกิน 20,000 บาท จึงยอมค้ำประกันจำเลยที่ 4 ให้ตามที่จำเลยที่ 6 ขอ จำเลยที่ 5 เพียงแต่ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันเท่านั้น ส่วนข้อความอื่นจำเลยที่ 5 ไม่ได้เขียนและจำเลยที่ 5 ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงไม่ได้ระบุจำนวนเงินความรับผิดชอบไว้ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 5 มิได้มีจำเลยที่ 6 มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 5 แต่เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 แล้วเห็นว่าเป็นแบบฟอร์มหนังสือสัญญาค้ำประกันที่มีการระบุว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดภายในวงเงินไม่เกินจำนวนเท่าใด โดยมีช่องว่างให้กรอกตัวเลขแสดงจำนวนเงินและตัวหนังสือแสดงจำนวนเงิน เมื่อสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ปรากฏว่า โจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 6 ผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งยอมรับผิดในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท จึงน่าเชื่อว่า โจทก์ก็ยอมรับโดยปริยายให้จำเลยที่ 5 เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 4 ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ด้วยเช่นกันเพราะว่านายวิรัชพยานโจทก์ผู้เป็นพยานในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งช่วยทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินของสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดตรังในปี 2532 ไม่ได้ยืนยันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 5 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมาดำเนินการแก้ไขเรื่องความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ยังไม่มีความชัดเจนอยู่แต่อย่างใด เมื่อไม่มีการแก้ไขสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ให้มีความชัดเจนในเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 5 ว่าจะต้องรับผิดในจำนวนเท่าใดทั้งๆ ที่มีช่องว่างให้เติมตัวเลขหรือข้อความแล้ว ย่อมเป็นกรณีที่มีข้อสงสัย จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งฝ่ายโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 6 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 4 รับผิดในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท แล้วก็จะต้องฟังว่า โจทก์มีเจตนายอมให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่จำกัดวงเงินตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.