คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2329/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้คำจำกัดความของคำว่า “อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” ว่า “ค่าใช้จ่ายอย่างใดที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง ซึ่งตามประเพณีในการขนส่งทางทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง…” ดังนั้น ค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวางจึงมีอายุความเป็นอย่างเดียวกัน ในกรณีนี้ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้กำหนดอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าระวางไว้ แต่ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (3) บัญญัติไว้ว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี…(3)…ค่าระวาง…” อายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าระวางจึงมีกำหนด 2 ปี ตามบทมาตราดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับขนส่งสินค้าทางทะเล จำเลยประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออกสินค้ากรดและเคมีภัณฑ์ซึ่งรวมถึงเฟอฟูรีล แอลกอฮอล์ ตั้งแต่ปี 2540 ถึงเดือนมกราคม 2544 จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าเฟอฟูรีล แอลกอฮอล์ ทางทะเลจากท่าเรือกรุงเทพไปยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป โจทก์เป็นผู้จัดหาภาชนะบรรจุสินค้าขนาด 20 ฟุต เพื่อให้จำเลยนำไปบรรจุสินค้า ณ โรงงานของจำเลย จำเลยตกลงชำระค่าระวาง อุปกรณ์แห่งค่าระวางโดยอุปกรณ์แห่งค่าระวางได้แก่ ค่าใช้ถังสินค้าและค่าใช้สถานที่เก็บรักษาถังสินค้า คิดราคาเป็นรายวันนับจากวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่ยินยอมให้ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำเลยตกลงชำระเงินค่าระวางให้โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับจากวันที่ระบุในใบเรียกเก็บเงิน สำหรับการชำระค่าอุปกรณ์แห่งค่าระวาง โจทก์จะออกใบเรียกเก็บเงินจากจำเลยต่อเมื่อมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว และจำเลยตกลงจะชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับจากวันที่ระบุในใบเรียกเก็บเงินเช่นกัน ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จำเลยได้ชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางให้กับโจทก์มาโดยตลอด ต่อมาในปี 2542 ถึงปี 2544 จำเลยผิดนัดชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางโดย ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2544 จำเลยค้างชำระเงินแก่โจทก์ตามใบแจ้งหนี้ 280 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 169,638.26 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จำเลยยังค้างชำระค่าระวางในการขนส่งสินค้าจำนวน 5 ถังสินค้า ในช่วงเดือนธันวาคม 2543 ถึงเดือนมกราคม 2544 เป็นเงินจำนวน 1,125 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 170,763.26 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 208,020.17 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 170,763.26 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวาง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (3) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545 หนี้ค้างชำระที่อ้างว่าเกิดขึ้นระหว่างปี 2542 ถึงปี 2543 จึงขาดอายุความ ค่าใช้ถังสินค้าและค่าใช้สถานที่เก็บไม่ใช่อุปกรณ์แห่งค่าระวาง เพราะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินเกินความเป็นจริง มีการส่งใบเรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน ทั้งที่จำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์เกือบหมดสิ้นแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังส่งใบเรียกเก็บเงินที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากจำเลยอีกจำนวน 17,300 ดอลลาร์สหรัฐ อันเนื่องมาจากสินค้าที่โจทก์รับขนจากจำเลยได้รับความเสียหายเพราะสินค้าในถังปลอมปน ซึ่งเกิดเหตุเพราะความบกพร่องของโจทก์เองในฐานะผู้ขนส่งที่จัดเตรียมภาชนะที่ใช้ขนส่งไม่เหมาะสมและสะอาดพอ หากจำเลยจะมีเงินค้างชำระแก่โจทก์ก็ไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ยึดหน่วงและนำสินค้าของจำเลยออกขายโดยพลการในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ดังนั้น จึงยังมีเงินส่วนหนึ่งที่โจทก์ยังต้องคืนแก่จำเลยด้วย จำเลยได้ฟ้องเรียกร้องเอาเงินส่วนนี้จากโจทก์เป็นคดีหมายเลขดำที่ กค. 509/2544 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฉะนั้นจึงไม่มีเงินค้างจ่ายที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์อีกต่อไป และที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยนำเงินจำนวน 82,600.23 ดอลลาร์สหรัฐ มาเพิ่มรวมเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ด้วยนั้นมิชอบ หนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 172,641.75 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 143,794.26 ดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 ตุลาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยชำระเป็นเงินบาทไทย ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราขายถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีการใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้น ก่อนวันที่มีการใช้เงิน และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าประเภทของเหลวไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยจัดถังสินค้าเปล่าของโจทก์ไปให้ลูกค้าเพื่อบรรจุสินค้า ณ สถานที่ทำการของลูกค้าตามภาพถ่ายถังสินค้าหมาย จ. 1 หลังจากนั้นโจทก์จะจัดส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางตามที่ได้ตกลงไว้กับลูกค้า และลูกค้าชำระค่าระวางให้แก่โจทก์ จำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการผลิตสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์ “เฟอฟูรีล แอลกอฮอล์” เพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ ตามเอกสารหมาย จ. 2 โดยเป็นลูกค้าของโจทก์นับแต่ปี 2540 โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงในเรื่องการเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการขนส่งสินค้า โดยอัตราค่าระวางในการขนส่งสินค้ารวมถึงค่าภาระท่าเรือที่ท่าเรือต้นทางและท่าเรือปลายทาง ค่าระวางในการขนส่งทางทะเล ค่าธรรมเนียมใบตราส่ง ค่าทำความสะอาดถังสินค้า ค่าใช้ถังสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 21 วัน หากมีการใช้ถังสินค้าเกินกว่าระยะเวลา 21 วัน โจทก์จะเรียกเก็บค่าใช้ถังสินค้าจากจำเลยนับแต่วันที่พ้นกำหนดเป็นต้นไป และค่าใช้สถานที่เก็บรักษาถังสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 วัน ในเส้นทางทวีปยุโรป และเป็นเวลา 5 วัน ในเส้นทางทวีปอเมริกาเหนือ หากมีการใช้สถานที่เก็บถังสินค้าเกินกว่า 3 วัน หรือ 5 วัน ดังกล่าวโจทก์จะเรียกเก็บค่าใช้สถานที่นับจากวันพ้นกำหนด 3 วัน หรือ 5 วัน เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย จ. 3
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหลังวันชี้สองสถาน โดยเพิ่มจำนวนเงินค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางที่เรียกร้องให้จำเลยชำระ จากฟ้องเดิมตามใบเรียกเก็บเงิน 178 ฉบับ จำนวน 87,038.03 ดอลลาร์สหรัฐ ขอเพิ่มเติมอีก 102 ฉบับ จำนวน 82,600.23 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 169,638.26 ดอลลาร์สหรัฐ ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า หนี้ตามใบเรียกเก็บเงินจำนวน 102 ฉบับ ที่ขอเพิ่มเติมฟ้อง เป็นหนี้ที่โจทก์อ้างว่าเกิดขึ้นในช่วงปี 2542 ถึงปี 2544 ก่อนสรุปยอดหนี้ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2544 เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยโดยฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545 และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนหนี้ตามใบเรียกเก็บเงิน 178 ฉบับ ที่โจทก์อ้างในฟ้องเดิมด้วย เมื่อคดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546 จึงเป็นการยื่นคำร้องหลังวันชี้สองสถานเป็นเวลาเกือบ 5 เดือน และไม่ใช่กรณีที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 เพราะโจทก์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ามีหนี้ที่จำเลยค้างชำระจำนวนนี้อยู่ตั้งแต่ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ข้อที่โจทก์อ้างในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์ได้ถูกจำเลยฟ้องไว้ก่อนคดีนี้ในมูลที่อ้างว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งยึดหน่วงสินค้าของจำเลยที่รับขนส่งให้ไว้โดยไม่ชอบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 ว่าโจทก์ยึดหน่วงสินค้าไว้โดยไม่ชอบ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย ทำให้โจทก์ไม่อาจนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ที่ยึดหน่วงเอามาหักชำระหนี้ค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางจำนวน 102 ฉบับ ดังกล่าวได้และโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวไว้ ซึ่งหากโจทก์จะรอฟังผลคดีของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอาจทำให้สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าระวางตามใบแจ้งหนี้จำนวน 102 ฉบับ ดังกล่าวขาดอายุความจึงจำต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้นได้ความว่า คดีดังกล่าวนั้นบัดนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้มีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2890/2549 ที่ได้ให้นำสำเนาคำพิพากษามาผูกรวมเข้าไว้กับคดีนี้แล้ว ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวจำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ชำระค่าระวางตามใบแจ้งหนี้จำนวน 102 ฉบับ ดังกล่าวด้วย แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งคดีถึงที่สุดว่าไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาว่าโจทก์ยึดหน่วงสินค้าของจำเลยเพื่อเอาชำระหนี้ค่าระวางโดยไม่ชอบดังนี้ จึงเท่ากับว่าหนี้ตามใบแจ้งหนี้จำนวน 102 ฉบับ นั้น โจทก์เลือกวิธีการที่จะให้จำเลยชำระหนี้ด้วยการยึดหน่วงทรัพย์ของจำเลยที่อยู่ในครอบครองของโจทก์และนำออกขายด้วยตนเองเพื่อเอาชำระหนี้ดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิทธิที่จะทำได้ โดยไม่ใช้สิทธิด้วยการฟ้องบังคับชำระหนี้ ครั้นเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วง แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่ามีหนี้ค่าระวางตามใบแจ้งหนี้จำนวน 102 ฉบับ กันจริง หรือไม่ เพราะไม่มีประเด็นในคดีดังกล่าว โจทก์จึงมายื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในคดีนี้ เมื่อโจทก์เลือกดำเนินการโดยไม่ชอบดังกล่าวแทนการที่จะฟ้องรวมกันมาในคดีนี้ตั้งแต่แรก ทั้งโจทก์ยังเลือกที่จะฟ้องแย้งในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2890/2549 ที่จำเลยฟ้องโจทก์ในมูลยึดหน่วงสินค้าโดยไม่ชอบ ซึ่งต่างมูลกันกับคดีนี้ ล้วนเป็นความผิดพลาดของโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ซึ่งเมื่อคำร้องขออนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ในส่วนหนี้ตามใบแจ้งหนี้จำนวน 102 ฉบับ เป็นการไม่ชอบด้วยเหตุดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดในหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน จึงยังคงเหลือจำนวนหนี้ที่พิพาทกันในคดีนี้คือหนี้ตามใบแจ้งหนี้จำนวน 178 ฉบับ ตามฟ้องเดิมก่อนมีการขอแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของหนี้ตามใบแจ้งหนี้จำนวน 178 ฉบับ เป็นเงินจำนวน 87,038.03 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องเดิมขาดอายุความหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวาง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้คำจำกัดความของคำว่า “อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” ว่า “ค่าใช้จ่ายอย่างใดที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง ซึ่งตามประเพณีในการขนส่งทางทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง…” ดังนั้น ค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวางจึงมีอายุความเป็นอย่างเดียวกัน ในกรณีนี้พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้กำหนดอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าระวางไว้ แต่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (3) บัญญัติไว้ว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี…(3)…ค่าระวาง…” อายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าระวางจึงมีกำหนด 2 ปี ตามบทมาตราดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545 โดยก่อนเพิ่มเติมฟ้องโจทก์ฟ้องเรียกค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางซึ่งถึงกำหนดชำระตามใบแจ้งหนี้รวม 178 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ. 115 ถึง จ. 292 ล้วนเป็นใบแจ้งหนี้ที่ครบกำหนดชำระหลังวันที่ 25 ตุลาคม 2543 เมื่อนับถึงวันฟ้อง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางภายในกำหนด 2 ปี นับแต่มูลหนี้ตามใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับครบกำหนดชำระเงิน ดังนั้น สำหรับมูลหนี้ตามใบแจ้งหนี้ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางสำหรับหนี้ตามใบแจ้งหนี้จำนวน 178 ฉบับ ตามฟ้องเดิมเพียงใด โดยจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกหนี้ส่วนนี้ด้วยสาเหตุสามประการ ประการแรกคือมูลหนี้ที่จำเลยขอให้โจทก์ตรวจสอบเป็นเงิน 22,804.50 ดอลลาร์สหรัฐ ในเอกสารหมาย จ. 7 ไม่ถูกต้อง ประการที่สองคือ ค่าใช้ถัง และค่าใช้สถานที่เก็บที่เรียกเก็บสูงเกินไป และประการที่สาม ใบแจ้งเรียกเก็บเงินจำนวน 40,104.50 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ส่งคืนโจทก์ไปตามเอกสารหมาย ล. 11 ไม่ถูกต้อง ซึ่งข้อโต้แย้งดังกล่าวจะได้วินิจฉัยรวมกันไป เห็นว่า ใบแจ้งหนี้ที่โจทก์อ้างส่งตามเอกสารหมาย จ. 115 ถึง จ. 292 ส่วนใหญ่เป็นชุดเอกสาร มีการแนบใบตราส่งสำหรับการที่โจทก์จัดการขนส่งให้แก่จำเลยในแต่ละครั้งด้วย ในเอกสารใบแจ้งหนี้และใบตราส่งดังกล่าว มีรายละเอียดชื่อผู้ส่งคือจำเลย สินค้าที่ขนส่งคือเฟอฟูรีล แอลกอฮอล์ ของจำเลย ราคาสินค้า วันเวลาที่ขนส่ง ท่าเรือต้นทาง ท่าเรือปลายทาง เรือที่ใช้ขนส่ง สถานที่ที่ต้องนำสินค้าไปส่งและรายละเอียดอื่น ๆ อีกมาก ที่สมเหตุสมผลและยากที่จะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นมาเองโดยมีเนื้อความเป็นเท็จ โจทก์ยังมีนายริชาร์ด ผู้จัดการทั่วไปของสาขาโจทก์ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการติดต่อลูกค้ารายจำเลยและเรียกเก็บเงินตามใบแจ้งหนี้มาเบิกความถึงความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ โจทก์ยังมีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์โต้ตอบระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ. 7 ซึ่งจำเลยโดยนายโอ.พี. ได้ตอบการทวงหนี้ค่าระวางของโจทก์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 ว่าจะชำระให้โจทก์ถ้าหากโจทก์ยอมลดราคาลง ครั้นโจทก์ไม่ตกลงด้วยโดยยืนยันเรียกเก็บเงิน จำเลยโดยนายโอ.พี. ได้มีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ไปถึงโจทก์อีกครั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 ตามเอกสารหมาย จ. 8 ในทำนองขอความเห็นใจว่า วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งธุรกิจทั่วไปและธุรกิจที่เกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ การส่งสินค้าของจำเลยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกามีความซบเซา เมื่อคำนึงถึงภาวะขาดทุนที่เกิดขึ้นจากสภาวะของตลาดที่ไม่ดี จำเลยขอให้โจทก์ได้ช่วยเหลือในการผ่อนปรนเพื่อที่จะให้จำเลยสามารถชำระเงินที่ค้างอยู่ได้ จึงขอส่วนลดจำนวนลงโดยไม่ได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินที่เรียกร้องเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เรียกเก็บไม่ถูกต้องตามสัญญา ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยนั้น ตามเอกสารหมาย ล. 11 ที่เป็นหนังสือที่จำเลยส่งถึงโจทก์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2544 ขอคืนใบเรียกเก็บเงินจำนวน 24 ฉบับ มูลค่า 40,104.50 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น ก็ไม่ปรากฏชัดจากพยานหลักฐานดังกล่าวว่าเป็นใบเรียกเก็บเงินช่วงใด อยู่ในใบเรียกเก็บเงิน 102 ฉบับแรก หรืออยู่ในใบเรียกเก็บเงินจำนวน 178 ฉบับ และโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ถูกต้องอย่างไร นางพรแข ปะสัน พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งออกของจำเลยที่อ้างว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ก็ให้ถ้อยคำและเบิกความว่า เงินจำนวน 22,804.50 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยโต้แย้งนั้น ปรากฏหลักฐานตามใบเรียกเก็บเงินตามเอกสารหมาย จ. 16 จ. 32 และ จ. 34 ซึ่งใบเรียกเก็บเงินหมาย จ. 16 จ. 32 และ จ. 34 นั้น ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของใบเรียกเก็บเงิน 102 ฉบับแรก จึงไม่เกี่ยวกับใบเรียกเก็บเงินจำนวน 178 ฉบับ ที่เป็นใบเรียกเก็บเงินส่วนที่เป็นปัญหาให้ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ นอกจากนี้นางพรแขก็ไม่ได้เบิกความอธิบายถึงใบเรียกเก็บเงินที่จำเลยส่งคืนโจทก์จำนวน 24 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ล. 11 จำนวนเงิน 40,104.50 ดอลลาร์สหรัฐ ว่าเป็นใบเรียกเก็บเงินที่ไม่ถูกต้องเพราะอะไร ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์คิดค่าเช่าถังสินค้าเกินกว่าที่ตกลงกันไว้นั้น พยานก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย เชื่อว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามใบเรียกเก็บเงินจำนวน 178 ฉบับ ตามจำนวนและวันเวลาที่โจทก์ฟ้องจริง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 106,149.78 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 88,163.03 ดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share