แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บ้านของผู้เสียหายเป็นบ้านเดี่ยวปลูกอยู่ในที่ดินซึ่งมีบริเวณหน้าบ้าน การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายบอกผู้เสียหายให้เบาวิทยุที่เปิดเสียงดัง เป็นการเข้าไปโดยีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยออกจากบ้านแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่อีก การที่จำเลยยังคงอยู่และใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธมีดและกระทำในเวลากลางคืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 1 ธันวาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธติดตัวบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของนายปราโมทย์ ผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย และจำเลยมีเจตนาฆ่าใช้มีดปลายแหลมดังกล่าวแทงผู้เสียหาย 2 ครั้ง แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพียงแต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 12 ปี ฐานบุกรุก จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 13 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 คงให้จำคุกจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น 12 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 223 ซอยมิตรเมืองลุง ถนนริมทางรถไฟนอก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยพักอาศัยรวมอยู่กับนางสมคิด มารดา นางกรรณิการ์ พี่สาว และพี่น้องรวมทั้งหมด 7 คน วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา หลังจากที่ผู้เสียหายกับพวกอีก 2 คน ช่วยกันทาสีบ้านเสร็จได้จัดเตรียมอาหารและสุราเพื่อดื่มและรับประทานกันได้เปิดเครื่องเสียงฟังเพลง จำเลยซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับผู้เสียหายได้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาจอดอยู่บริเวณหน้าบ้าน แล้วเดินลงจากรถจักรยานยนต์เข้าไปในบ้านผู้เสียหายเข้าไปพูดกับผู้เสียหาย ต่อมาได้เกิดการด่าทอและทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน แล้วจำเลยใช้อาวุธมีดที่พกติดตัวมาแทงผู้เสียหายถูกที่นิ้วมือข้างซ้าย 2 แผล และที่หน้าท้องข้างขวายาวประมาณ 2 เซนติเมตร บาดแผลลึกประมาณ 8 เซนติเมตร คมมีดถูกตับฉีกขาดเลือดออก แพทย์ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเย็บซ่อมตับและห้ามเลือด ระหว่างเกิดเหตุนางสมคิดได้เข้าห้าม จำเลยจึงขึ้นรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายหลบหนีไป นางสมคิดได้โทรศัพท์แจ้งนางกรรณิการ์ให้ทราบเรื่อง นางกรรณิการ์ได้ไปแจ้งความกล่าวโทษจำเลยต่อพันตำรวจตรีบัญญัติ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสงขลา และต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2544 จำเลยเข้ามอบตัวต่อสู้คดี ชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามภาพถ่ายหมาย จ. 3 สภาพบ้านของผู้เสียหายเป็นบ้านเดี่ยวปลูกอยู่ในที่ดินซึ่งมีบริเวณหน้าบ้าน การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยเข้าไปบอกผู้เสียหายให้เบาวิทยุที่เปิดเสียงดัง หรือตามทางนำสืบของจำเลยว่าเข้าไปหานางกรรณิการ์ การเข้าไปของจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยออกจากบ้านแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่อีก การที่จำเลยยังคงอยู่และใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธมีดและกระทำในเวลากลางคืน แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายเบิกความรับว่า ผลักอกจำเลยก่อนทำให้จำเลยเซล้มลง เจือสมกับคำเบิกความของนายสามารถ พยานจำเลยที่เห็นผู้เสียหายเข้ามาทำร้ายจำเลยก่อนโดยใช้ขวดเบียร์ตีศีรษะของจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิใช่คนก่อเรื่องทะเลาะนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายกับจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองมาก่อน กลับได้ความว่าเป็นญาติกันหากจำเลยไม่ด่าผู้เสียหายดังที่ผู้เสียหายเบิกความ ก็ไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายจะไปทำร้ายจำเลย ดังนั้น ที่ผู้เสียหายและนางสมคิดเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ด่าผู้เสียหายก่อน จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ การที่จำเลยด่าผู้เสียหายก่อนทำให้ผู้เสียหายโกรธแล้วเข้าผลักจำเลย จึงเป็นเหตุให้มีการชกต่อยกันและจำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เริ่มต้นในการทำร้ายก่อน นอกจากนี้ชั้นสอบสวนจำเลยมิได้ให้การถึงรายละเอียดดังกล่าวไว้ หากเป็นความจริงควรที่จำเลยจะให้การต่อพนักงานสอบสวนเพื่อที่พนักงานสอบสวนจะได้ใช้ดุลพินิจประกอบในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลย นอกจากนี้จำเลยเบิกความว่า ผู้เสียหายเงื้อขวดสุราจะตีศีรษะจำเลย จำเลยยกแขนขึ้นบังจึงทำให้มือของจำเลยไปถูกแขนของผู้เสียหายที่ถือขวดสุราทำให้ขวดสุราหลุดจากมือของผู้เสียหายแฉลบมาโดนศีรษะจำเลยกระเด็นตกลงพื้น ทำให้จำเลยได้รับบาดเจ็บช้ำที่ศีรษะ แต่นายสามารถกลับเบิกความว่า ผู้เสียหายถือขวดสุราเงื้อจะตีศีรษะของจำเลย แต่ขวดสุราหลุดจากมือของผู้เสียหาย ทำให้ขวดไม่ถูกจำเลย คำเบิกความของจำเลยกับนายสามารถจึงแตกต่างกัน หากเป็นความจริงก็น่าที่จะเบิกความเหมือนกัน ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายทำร้ายนายสามารถนั้น หากเป็นจริงนายสามารถย่อมจะต้องร้องทุกข์ดำเนินคดีผู้เสียหายแล้ว แต่นายสามารถหาได้กระทำไม่ และที่จำเลยฎีกาว่าใช้อาวุธมีดแทงใส่ผู้เสียหายโดยสะเปะสะปะนั้น ขัดกับคำเบิกความของจำเลยเองที่ว่า จำเลยไม่พอใจที่ผู้เสียหายชกต่อยจำเลยและยังไปชกต่อยนายสามารถอีก จึงชักมีดออกมาแทงสวนไปขณะที่ผู้เสียหายวิ่งสวนเข้ามาทางประตูหน้าบ้าน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดแล้วหาได้สำนึกในการกระทำกลับต่อสู้คดีมาตลอด ทั้งมิได้บรรเทาความเสียหายแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9