แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางติดตัวมานั้นเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่สั่งซื้อไว้ แม้จำเลยที่ 2 จะถูกจับกุมเสียก่อน แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 84 มิใช่ตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การสั่งซื้อของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 92 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตและปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เมื่อลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษได้ให้ยกคำขอส่วนนี้ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 37 ปี 6 เดือน และปรับ 750,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุงของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทราจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด และโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 9008 0104 เป็นของกลาง ต่อมาจับกุมจำเลยที่ 2 ได้พร้อมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 9161 8979 และเงินสดจำนวน 100,640 บาท เป็นของกลาง เมทแอมเฟตามีนของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 44.72 กรัม ตามผลการตรวจพิสูจน์ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า ที่ร้อยตำรวจเอกวินัยและดาบตำรวจชัยณรงค์สามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางนั้น สืบเนื่องมาจากก่อนเกิดเหตุจ่าสิบตำรวจพินิจ ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยที่ 2 นัดหมายส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้ลูกค้าโดยบอกตำหนิรูปพรรณไว้ด้วย ตามรายงานการสืบสวน ซึ่งบันทึกการจับกุมจำเลยที่ 1 และหมายจับจำเลยที่ 2 ต่างก็ระบุชื่อจำเลยที่ 2 พร้อมพฤติการณ์ไว้ตรงกันกับรายงานการสืบสวนดังกล่าว ทั้งสอดคล้องกับคำเบิกความของดาบตำรวจชัยณรงค์ซึ่งประจำอยู่ที่สถานีขนส่งจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนจับกุมจำเลยที่ 1 มีการประสานให้พยานซุ่มรอจับกุมผู้ลักลอบขนยาเสพติดให้โทษ พยานซุ่มดูตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2547 เป็นต้นมา ทำให้เชื่อว่ามีการสืบสวนติดตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 มาก่อนจับกุม ไม่ใช่เพิ่งทราบจากคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ในวันที่ถูกจับกุม เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การซัดทอดจำเลยที่ 2 ว่าเป็นผู้ว่าจ้างให้ขนเมทแอมเฟตามีนของกลาง และเมื่อตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 พบว่ามีการโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 หลายครั้ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงขยายผลวางแผนจับกุมโดยให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดหมายจำเลยที่ 2 มารับเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 2 มาที่เกิดเหตุตามที่จำเลยที่ 1 นัดพร้อมเงินสดจำนวน 100,640 บาทจึงสามารถจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ การจับกุมจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และโจทก์มีพันตำรวจตรีสมัย พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่า รับจ้างจำเลยที่ 2 ขนยาเสพติดให้โทษโดยได้ค่าจ้าง 2,000 บาท ตามบันทึกคำให้การ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ โดยให้การซัดทอดจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างให้ขนมาส่งมอบให้ เป็นการให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนทันทีในวันที่ถูกจับ จึงเป็นการยากที่จำเลยที่ 1 จะปรุงแต่งเรื่องขึ้นเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 2 และแม้จะถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันก็ตามแต่คำซัดทอดดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ประสบมาจากการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2 เมื่อนำมาพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์แล้ว ถือเป็นคำซัดทอดที่ชอบด้วยเหตุผลพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง พยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นลำดับเหตุการณ์โดยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจะนำเงินไปซื้อถุงจัมโบ้ตามที่นายวิสูตร ว่าจ้างนั้น ก็ปรากฏว่านายวิสูตรโอนเงินให้นางสาวปลื้มจิตต์ ภริยาจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ก่อนเกิดเหตุเดือนกว่าและการซื้อถุงจัมโบ้นั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินสดจำนวนมากติดตัวมาในเวลากลางคืนซึ่งไม่ปลอดภัยจึงถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ในขณะจอดรถรอจำเลยที่ 1 ในเวลากลางคืนพร้อมเงิน 100,640 บาท จึงเชื่อว่าเพื่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง โดยไม่ปรากฏว่านอกจากจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์ติดต่อเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่บุคคลอื่นอีก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 1นำเมทแอมเฟตามีนของกลางติดตัวมานั้นเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่สั่งซื้อไว้ แม้จำเลยที่ 2 จะถูกจับกุมเสียก่อน แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้องจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การสั่งซื้อของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ประกอบกับระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อจำเลยที่ 2 พ้นโทษในความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 53 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666 บาท คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน และปรับ 444,444 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 2 ปี ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซัมซุงหมายเลข 0 9161 8979 ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2