แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเข้าไปในที่ดินของ อ. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีรั้วล้อมรอบโดยตัดโซ่คล้องประตูรั้ว แม้มีเจตนาจะเข้าไปนำรถยนต์พิพาทซึ่งยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 แล้วหรือยังเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ที่จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งจอดอยู่ในที่ดินดังกล่าวออกไป จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจกระทำโดยพลการด้วยการตัดโซ่คล้องประตูรั้วล้อมรอบที่ดินของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นการเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 โดยปกติสุขมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยตัดโซ่คล้องประตูเหล็กที่มีกุญแจล็อก ซึ่งเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์จนเสียหาย แล้วเปิดประตูบุกรุกเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 16389 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ของนางอรวรรณ ผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันควร และไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 โดยปกติสุข แล้วลักเอารถยนต์โดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30 – 0061 กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คัน ราคา 450,000 บาท ของนายกอบชัย ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเก็บรักษาไว้ในบริเวณที่ดินดังกล่าวไป จังหวัดนนทบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 362
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) วรรคแรก, 362 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเพียงแต่เข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายเพื่อติดตามเอารถยนต์กลับคืนมาเท่านั้น มิได้เอาทรัพย์สินอื่นหรือทำให้เกิดความเสียหายอื่นใดแก่ผู้เสียหาย จึงเป็นพฤติการณ์ที่ไม่ร้ายแรง จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เค.เอ็กซ์เพรส ซึ่งประกอบกิจการขนส่งประเภทไม่ประจำทาง ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล. 1 รถยนต์โดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30 – 0061 กรุงเทพมหานคร ที่พิพาทคดีนี้มีชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เค.เอ็กซ์เพรส เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ปรากฏตามสำเนารายงานการจดทะเบียนเอกสารหมาย ล. 9 และสำเนาใบอนุญาตประกอบการขนส่งเอกสารหมาย ล. 4 เดิมนายกอบชัย ผู้เสียหายที่ 2 เช่ารถยนต์พิพาทมาประกอบการขนส่งในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เค.เอ็กซ์เพรส โดยทำสัญญาเช่ากันไว้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2528 ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล. 2 ต่อมาระหว่างปี 2535 ถึง 2537 ผู้เสียหายที่ 2 ตกลงซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เค.เอ็กซ์เพรส โดยชำระเงินครั้งแรก 200,000 บาท ที่เหลือตกลงผ่อนชำระโดยจำเลยได้มอบเอกสารชุดโอนลอยให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ปรากฏตามเอกสารชุดโอนลอย (หนังสือมอบอำนาจแบบเรื่องราวขอโอนและรับโอน สำเนาบัตรประชาชนของจำเลยและหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เค.เอ็กซ์เพรส และรายการจดทะเบียนรถยนต์) หมาย จ. 2 (10 ฉบับ) ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2545 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยได้นำรถยนต์พิพาทซึ่งจอดอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16389 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ของนางอรวรรณ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้เสียหายที่ 2 ออกไปโดยตัดโซ่คล้องประตูรั้วล้อมรอบที่ดินดังกล่าวแล้วจำเลยโทรศัพท์แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ทราบ วันที่ 16 ธันวาคม 2545 เวลา 9 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่เกิดเหตุและโทรศัพท์ติดต่อจำเลยให้นำรถยนต์พิพาทมาคืน จำเลยบอกว่ารถยนต์พิพาทเป็นของจำเลยไม่ยอมคืน วันที่ 20 มกราคม 2546 ผู้เสียหายที่ 2 จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรี กล่าวหาว่าลักรถยนต์พิพาทและบุกรุก โดยผู้เสียหายที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้เสียหายที่ 2 ร้องทุกข์ในข้อหาบุกรุก ปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ. 6 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 5 วันที่ 30 มกราคม 2546 จ่าสิบตำรวจสถาพร ได้ยึดรถยนต์พิพาทมาเป็นของกลาง คดีนี้ปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ. 8 และบันทึกการยึดรถยนต์พิพาทเอกสารหมาย จ. 9 วันที่ 23 กรกฎาคม 2546 จำเลยมอบตัวต่อพันตำรวจตรีเฉลิมยศ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรี ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ. 17 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์และจำเลยนำสืบโต้แย้งกันว่า กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์แล้วหรือไม่ โดยผู้เสียหายที่ 2 เบิกความเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 ว่า พยานซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 450,000 บาท มอบเงินให้จำเลยเรียบร้อย จำเลยมอบเอกสารชุดโอนลอยหมาย จ. 2 (10 ฉบับ) ให้แก่จำเลยและตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานจ่ายเงินค่าซื้อรถยนต์พิพาทครบถ้วนโดยแยกจ่าย 2 ครั้ง ครั้งแรกจ่ายเป็นเงินสดที่บ้านของจำเลยส่วนที่เหลือจ่ายภายหลัง แต่ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 357/2547 ของศาลแพ่งธนบุรี เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 3 ซึ่งมีเจ้าพนักงานศาลยุติธรรม 6 ประจำศาลแพ่งธนบุรีรับรองความถูกต้อง ทั้งโจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้าน ซึ่งปรากฏข้อความที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2549 (หลังจากคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2547) ว่าพยานซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 350,000 บาท ชำระเงินงวดแรก 200,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนรายเดือนประมาณเดือนละ 15,000 บาท พยานได้รับชุดโอนลอยราวปี 2532 ถึง 2533 และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะรับชุดโอนลอยยังชำระราคารถยนต์พิพาทไม่ครบชำระส่วนแรก 200,000 บาท ดังนี้เห็นได้ว่าคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ในคดีนี้ และในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 357/2547 ของศาลแพ่งธนบุรี แตกต่างกันเอาแน่นอนไม่ได้ว่ารถยนต์พิพาทตกลงซื้อกันในราคาเท่าใด และการชำระราคาส่วนที่เหลือจากชำระราคาครั้งแรก 200,000 บาท นั้นชำระอีกครั้งเดียวหรือผ่อนเป็นรายเดือน ทั้งผู้เสียหายที่ 2 ไม่มีหลักฐานการชำระเงินว่าชำระครบถ้วนแล้ว คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยเบิกความว่าจำเลยตกลงขายรถยนต์แก่ผู้เสีหายที่ 2 ในราคา 400,000 บาท ชำระครั้งแรก 200,000 บาท ที่เหลือผู้เสียหายชำระเป็นเช็คล่วงหน้า 4 ฉบับ ฉบับละ 16,500 บาท ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค 2 ฉบับ ส่วนอีก 2 ฉบับ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน พยานแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ทราบ ตามสำเนาภาพถ่ายรายการหนี้สินระหว่างจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 เอกสารหมาย ล. 8 (15 ฉบับ) การซื้อขายรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางต้องมีสัญญาซื้อขาย เจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการให้ แต่การซื้อขายรถยนต์พิพาทไม่มีสัญญาซื้อขาย พยานตกลงกับผู้เสียหายที่ 2 ว่าจะโอนรถยนต์พิพาทให้ผู้เสียหายที่ 2 เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ชำระค่ารถยนต์พิพาทแก่พยานครบถ้วนแล้ว คำเบิกความของพยานเป็นทำนองเดียวกับคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเอกสารหมาย จ. 17 ซึ่งระบุว่าให้การเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2536 และสอดคล้องกับเอกสารหมาย ล. 8 ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 โดยเฉพาะเอกสารหมาย ล. 8 ฉบับที่ 1 ซึ่งผู้เสียหายที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ลายมือชื่อที่วงกลมไว้เป็นลายมือชื่อของพยาน คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลย นอกจากนี้เอกสารหมาย ล. 8 ฉบับที่ 2 ก็ปรากฏลายมือชื่อผู้จ่ายใต้ข้อความผ่านเช็คงวดที่ 1 และที่ 2 จำนวนฉบับละ 16,500 บาท ไม่ผ่านเช็คงวดที่ 3 และที่ 4 จำนวนฉบับละ 16,500 บาท ซึ่งมีลักษณะลีลาการเขียนเช่นเดียวกับลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 เชื่อได้ว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเคยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามสำเนาบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย ล. 8 (ระบุว่าฝากเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และ 26 สิงหาคม 2545 จำนวน 10,000 บาท และ 3,000 บาท) แสดงให้เห็นว่าในปี 2545 ผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยยังมีหนี้สินค้างชำระกันอยู่ ประกอบกับเมื่อจำเลยไปเอารถยนต์พิพาทแล้วก็ได้แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ทราบทันที พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าขณะที่จำเลยไปเอารถยนต์พิพาทมานั้น กรรมสิทธิ์โอนเป็นของผู้เสียหายที่ 2 แล้วหรือยังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เค.เอ็กซ์เพรส จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เค.เอ็กซ์เพรส ไปเอารถยนต์พิพาทมาจึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 16389 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ของนางอรวรรณ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีรั้วล้อมรอบโดยตัดโซ่คล้องประตูรั้ว แม้เจตนาจะนำรถยนต์พิพาทซึ่งยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 แล้วหรือยังเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เค.เอ็กซ์เพรส ดังวินิจฉัยข้างต้นออกไป จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจกระทำโดยพลการตัดโซ่คล้องประตูรั้วล้อมรอบที่ดินของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 โดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ตามฟ้องฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ปรับ 1,000 บาท ยกฟ้องฐานลักทรัพย์