คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2426/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างฟ้องต่อศาลแรงงานกลางว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานกับให้ใช้ค่าเสียหาย ปรากฏว่านายจ้างถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนฟ้องแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายจ้างได้แต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เมื่อการที่ลูกจ้างฟ้องเป็นการขอบังคับชำระหนี้เอาแก่นายจ้าง ศาลย่อมไม่รับฟ้องไว้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 893/2510)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เป็นสมาชิกและกรรมการสหภาพแรงงาน และเพราะได้ฟ้องร้องต่อศาล ทั้งเป็นการเลิกจ้างในระหว่างที่คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีผลใช้บังคับ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์หรือให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯตามจำนวนที่ศาลกำหนด
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยถูกฟ้องล้มละลาย ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จำเลยไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีนี้ได้
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ จะมีเจตนารมณ์ที่จะไกล่เกลี่ยให้คู่ความคดีแรงงานได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกัน แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้แต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เมื่อโจทก์ฟ้องขอบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยเช่นนี้ ศาลย่อมไม่รับฟ้องไว้พิจารณาความนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 893/2510 นายสว่าง วิไลโสภากุล โจทก์ นางปราณี รัตนยนต์ กับพวก จำเลยและถึงแม้โจทก์จะเพิ่งทราบว่าจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดทั้งสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยก็เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วนั้นน่าเห็นใจโจทก์ แต่เมื่อกฎหมายมิได้บัญญัติยกเว้นว่าในกรณีเช่นนี้ให้ฟ้องบังคับจำเลยได้ ศาลก็ไม่อาจรับฟ้องไว้พิจารณา
พิพากษายืน

Share