คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9057/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ยังบัญญัติเป็นบทความผิดห้ามการใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าผู้อำนวยการทางหลวงได้ประกาศกำหนดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 บัญญัติเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แล้ว แม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี และมาตรา 221 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และ 73
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกให้เป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 ประกอบมาตรา 61 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 ถือว่าโจทก์มิได้อ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ต้องพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นว่า ปรากฏตามคำขอท้ายฟ้องว่าโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 แต่ขณะจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว โดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 25 และมาตรา 29 โดยมาตรา 61 ทั้งพระราชบัญญัติทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ยังบัญญัติเป็นบทความผิดห้ามการใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าผู้อำนวยการทางหลวงได้ประกาศกำหนดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 บัญญัติเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่มาตรา 73/2 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 ของกฎหมายเดิมที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 โดยมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แล้ว แม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ก็ตาม และเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจำต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี และมาตรา 221 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ เห็นว่า จำเลยใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 27,050 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเพียงใดต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน การกระทำดังกล่าวของจำเลยย่อมทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่าจำเลยมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและจำต้องกระทำความผิดในคดีนี้เพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดคำสั่งของนายจ้าง ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น บุคคลทั่ว ๆ ไปในสถานะเช่นเดียวกับจำเลยก็มีภาระที่ไม่แตกต่างไปจากจำเลย จำเลยไม่อาจอ้างภาระความจำเป็นส่วนตัวเพื่อก่อภาระให้แก่สังคมโดยรวมได้ ทั้งเหตุดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 เดือน 15 วัน แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share