คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ส. 30,000 บาท ได้ออกเช็คเป็นการชำระหนี้ให้ก็ขึ้นเงินไม่ได้ และเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจนจำเลยที่ 1 ต้องเปลี่ยนเช็คให้ใหม่เรื่อยมา ในที่สุดได้ทำสัญญาให้แก่โจทก์ว่าจะผ่อนใช้หนี้ 62,000 บาทให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แม้จะฟังว่าหนี้รายนี้สมบูรณ์เพียงต้นเงิน 30,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเกินอัตราตกเป็นโมฆะไป หนี้ 30,000 บาทนี้ก็ยังผูกพันจำเลย โจทก์ได้ทวงถามสองครั้งในระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แม้จะทวงถามให้ชำระ 62,000 บาท เกินไปกว่าจำนวนที่ลูกหนี้ต้องผูกพัน จำเลยก็ไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ และมีพฤติการณ์ที่ฟังได้ ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลย่อมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด
แม้จำเลยจะไม่ใช่ลูกหนี้โจทก์ แต่เอกสารผ่อนชำระหนี้และค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องแสดงว่าโจทก์เป็นตัวเจ้าหนี้เอง เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันระบุให้โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้เองแล้ว ก็ไม่ต้องพิสูจน์ว่าโจทก์รับโอนหนี้มาอย่างไร โจทก์ย่อมฟ้องจำเลย (เป็นคดีล้มละลาย) ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวนั้นได้
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว ความจึงปรากฏแก่ศาลว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายตามคดีอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งคดีนั้นศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนคำสั่งในคดีนี้ ศาลสูงย่อมสั่งจำหน่ายคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เนื่องจากจำเลยที่ 1 ออกเช็ค 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน 62,000 บาทให้โจทก์เป็นการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ แต่เช็คนั้นขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ 62,000 บาทนี้ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้องแล้วจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระเงิน โจทก์ได้ทวงถามไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยก็ไม่ชำระหนี้โดยจงใจบิดพลิ้วหลีกเลี่ยง จำเลยเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้โจทก์มีจำนวนแน่นอนเกินกว่า 1,000 บาทและถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ และไม่มีทรัพย์สินพอยึดมาขายชำระหนี้โจทก์กับเจ้าหนี้อื่น ๆ ได้เพียงพอ ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ให้การเป็นใจความว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้นางสมถวิล 30,000 บาท นางสมถวิลให้จำเลยออกเช็คปิดบังดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราเป็นเงิน 32,000 บาท นางสมถวิลให้โจทก์เป็นผู้ถือเช็คเป็นตัวแทนเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระหนี้หนังสือสัญญาผ่อนชำระหนี้และค้ำประกันที่นำมาฟ้องนี้มีข้อความอันไม่จริง ในเรื่องเป็นหนี้ 62,000 บาท เพราะโจทก์เอาดอกเบี้ย 32,000 บาทที่เรียกเกินอัตรารวมเข้ากับต้นเงิน 30,000 บาทลงไว้ในสัญญา จึงเป็นเงิน 62,000 บาท สัญญานี้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจึงเป็นโมฆะ และฟ้องโจทก์ก็เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ให้การว่า หนี้รายนี้รวมดอกเบี้ยเกินอัตราเข้าไว้ เป็นโมฆะและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยทำสัญญาด้วยความสมัครใจ ฟังไม่ได้ว่ามีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จำเลยผิดนัด โจทก์ได้ทวงถาม 2 ครั้ง ห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยรับว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ ฟังว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายตามสำนวนคดีอื่นซึ่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาไปก่อนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องไม่เคลือบคลุมและฟังว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินนางสมถวิลไปเพียง 30,000 บาท และเคยชำระดอกเบี้ยเป็นเงินสดไปแล้ว 10,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่จำเลยทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไว้สูงกว่าหนี้เดิมนั้น เป็นเงินที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่ค้างชำระด้วย สัญญานี้จึงสมบูรณ์เพียงเท่าหนี้เดิม 30,000 บาท จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้นางสมถวิลเป็นเงินต้น 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาทต่อเดือน โดยหักดอกเบี้ยที่ชำระแล้ว 10,000 บาทด้วย จำเลยไม่ใช่ลูกหนี้โจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับโอนหนี้ตามฟ้องมาจากนางสมถวิล โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยโดยลำพัง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายแล้วในคดีอีกเรื่องหนึ่ง ต้องจำหน่ายคดีนี้เสียตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 15
สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ฟังว่า เดิมจำเลยที่ 1 กู้เงิน 30,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือนอีก 3,000 บาทรวมเข้าไว้ในเงินต้น จำเลยที่ 1 ออกเช็คไว้ให้ ต่อมาได้เปลี่ยนเช็คให้ใหม่เป็นลำดับ ซึ่งนางสมถวิลเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราและจำเลยชำระเงินสดไป 10,000 บาท แต่อย่างไรก็ดี แม้จะฟังว่าหนี้รายนี้สมบูรณ์เพียงต้นเงิน 30,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเกนอัตราตกเป็นโมฆะไป เป็นอันไม่มีดอกเบี้ย หนี้ 30,000 บาทนี้ก็ยังผูกพันลูกหนี้และจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ทวงถามสองครั้งในระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แม้จะทวงถาม 62ล000 บาท เกินกว่าจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ต้องผูกพัน จำเลยก็ไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ใช่ลูกหนี้โจทก์ แต่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าหนี้จำเลยในเอกสารผ่อนชำระหนี้ในฐานะผู้จัดการทวงหนี้แทนนางสมถวิลเท่านั้น ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้รับโอนหนี้มาจากนางสมถวิลแต่อย่างใด จึงฟ้องจำเลยโดยลำพังไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารผ่อนชำระหนี้และค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้เอง มิใช่แต่เพียงผู้จัดการทวงหนี้แทน เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันระบุให้โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้เองแล้ว ก็ไม่ต้องพิสูจน์ว่าโจทก์รับโอนหนี้มาอย่างไร โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยนั้นได้ ส่วนพฤติการณ์ที่จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นก็ฟังได้ จึงพิพากษาแก้ ให้จำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

Share