คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสองเพื่อให้มีโอกาสคัดค้านก่อนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 21(2) และ มาตรา 57(2) แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมได้โดยมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวแต่ประการใด กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นคำคู่ความตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 27 บัญญัติไว้ ฉะนั้นกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินมาในเรื่องการร้องสอดนับตั้งแต่การยื่นคำร้องไม่ว่าดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ตลอดจนคำสั่งหรือคำพิพากษาในเรื่องนี้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบตามไปด้วยจำเลยร่วมจะฎีกาต่อมาอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้โต้แย้งไว้ในเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเสียให้ถูกต้องก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243(1)(2) ประกอบด้วยมาตรา 247.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกัน ชำระหนี้เงินกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวน1,050,000 บาท คดีอยู่ระหว่างออกหมายส่งสำเนาฟ้องให้จำเลยเพื่อแก้คดี นางเอมอร บุญมี ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในฐานะผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี และได้ยื่นคำให้การเข้ามาด้วยศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมได้ ส่วนคำให้การสั่งว่ารอฟังจำเลยก่อนและต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นได้สั่งในวันเดียวกันว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและสั่งคำให้การของจำเลยร่วมว่า “เนื่องจากจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดี ไม่รับคำให้การของจำเลยร่วม”
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยร่วมใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์หนึ่งพันบาท
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่นางเอมอร บุญมี ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2530 ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสอง เพื่อให้มีโอกาสคัดค้านก่อนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 21 (2) และมาตรา 57 (2) แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมได้โดยมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวแต่ประการใด กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นคำคู่ความตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 บัญญัติไว้ ฉะนั้นกระบวนพิจาณาที่ศาลได้ดำเนินมาในเรื่องการร้องสอดนับตั้งแต่ยื่นคำร้องไม่ว่าดำเนินโดยศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ตลอดจนคำสั่งหรือคำพิพากษาในเรื่องนี้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบตามไปด้วยจำเลยร่วมจะฎีกาต่อมาอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้และปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้โต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ไว้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยได้และเห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเสียให้ถูกต้องก่อน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1)(2) ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาของจำเลยร่วมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องตามนัยที่กล่าวข้างต้นแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาไปตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยร่วม ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา.

Share