คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7742/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังตัวผู้เสียหาย ก็เพื่อให้ผู้เสียหายชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองเชื่อว่าสามารถกระทำได้ดังนั้นประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องให้ผู้เสียหายชำระหนี้จึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า “ค่าไถ่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(13) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83, 91, 297, 309, 310, 313, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 309, 310 และ 313 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 313 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองรับสารภาพในชั้นจับกุมและนำชี้ที่เกิดเหตุเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 37 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313 วรรคสอง ด้วย และให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 297 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดให้จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสองรับสารภาพในชั้นจับกุมข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพและจำเลยที่ 1 นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่าผู้เสียหายรู้จักกับจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณปี 2537 จำเลยที่ 1 เคยรับเหมาก่อสร้างอาคารให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายเป็นหนี้จำเลยที่ 1 ผู้เสียหายและนางสาวจิติมาจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายเคยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้แก่จำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านเกิดเหตุ เพราะจำเลยที่ 1ต้องการซื้อตึกแถวที่ขายให้ผู้เสียหายกลับคืน ระหว่างที่ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1หน่วงเหนี่ยวกักขังนั้น จำเลยที่ 1 กับพวกได้พูดกับผู้เสียหายเกี่ยวกับเรื่องค่าไถ่ โดยพวกของจำเลยที่ 1 ต้องการเงินค่าไถ่จำนวน 1,000,000 บาท แต่ผู้เสียหายบอกว่ามารดาของผู้เสียหายไม่มีให้ หากจำนวน 200,000 ถึง300,000 บาท พอจะมีให้ จำเลยที่ 1 จึงให้ผู้เสียหายเขียนจดหมายตามเอกสารหมาย จ.2 เพื่อให้นางสาวจิติมาชำระหนี้แทนผู้เสียหาย เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความรับว่า ผู้เสียหายเคยเป็นหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารจำเลยที่ 1 และ ผู้เสียหายได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวต่อมาผู้เสียหายได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 50,000 บาท และนางสาวจิติมาได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 150,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 และต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2538 ผู้เสียหายได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 150,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ นอกจากนี้นางสาวจิติมาพยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านรับว่า เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่ผู้เสียหายสั่งจ่าย ผู้เสียหายและพยานได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้จำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 1 เคยไปทวงเงินพยานที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยประกอบกับตามจดหมายเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งผู้เสียหายเขียนไปถึงนางสาวจิติมามีข้อความว่า “คุณแม่ครับ ช่วยใช้หนี้ให้ปุ๊ก(ชื่อเล่นของผู้เสียหาย) ด้วย ทั้งหมด 300,000 บาท เพราะเจ้าหนี้เขาไม่ยอมแล้ว”แสดงให้เห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังคงเป็นหนี้จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายไม่สามารถชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ได้ การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังตัวผู้เสียหายไว้ก็เพื่อให้ผู้เสียหายชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองเชื่อว่าสามารถกระทำได้ ดังนั้น ประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องให้ผู้เสียหายและนางสาวจิติมาชำระหนี้จึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า “ค่าไถ่”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(13) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share