แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าขายสินค้าของโจทก์ไป มิใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดในค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ซึ่งจะใช้อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 การฟ้องผู้ค้ำประกันเช่นนี้ กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นโจทก์มีสิทธิฟ้องได้ภายใน 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ สมัครงานและเข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันโดยจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่จำกัดจำนวนระหว่างที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขาย จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินของโจทก์ไปหลายครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 77,421 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ว่าจะชำระเงินจำนวน 77,421 บาท ให้โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 91,674 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเนื่องจากโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 ไปครบถ้วนแล้ว และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีเจตนาค้ำประกันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 นำเอกสารที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแจ้งจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 3 ถูกโจทก์กลั่นแกล้งให้ตำรวจจับไปดำเนินคดี หากจำเลยที่ 4 เซ็นชื่อในหนังสือค้ำประกันว่าจำเลยที่ 1 จะไม่หลบหนีโจทก์และพนักงานสอบสวนจะให้จำเลยที่ 1 ออกมาตกลงกับโจทก์ จำเลยที่ 4 จึงเซ็นชื่อในเอกสารท้ายฟ้องโดยเข้าใจว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการค้ำประกันการปล่อยตัวจำเลยที่ 1 ออกจากห้องขัง จำเลยที่ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง และคดีของโจทก์ขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 91,674 บาทพร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 รับผิดตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 77,421 บาท แก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยให้รับผิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยที่ 2 รับผิดเสียดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 4 นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 และเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้รับผิดไม่เกินวงเงินที่ค้ำประกัน 100,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่สืบพยานหักล้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์มีหน้าที่ขายสินค้าและเก็บเงินจากลูกค้ามามอบให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้้ค้ำประกันความเสียหายอันเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จะรับผิดต่อโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยอมรับผิดต่อโจทก์ไม่จำกัดจำนวน ระหว่างจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ได้ยักยอกเอาเงินของโจทก์ไปหลายครั้งและได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน คงค้างชำระอยู่เป็นเงิน 77,421 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2528 ยอมชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ภายใน2 เดือน หากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้ทวงถามจำเลยที่ 2 และที่ 4 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าขายสินค้าของโจทก์ไป มิใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดในค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ซึ่งจะใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และการฟ้องผู้ค้ำประกันเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องได้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ…”
พิพากษายืน.