คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3040/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้จัดการนำรถยนต์คันพิพาทออกมาจากบริษัท จ. ซึ่งเป็นบริษัทขายรถยนต์และเป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทมาขายให้โจทก์ โจทก์รับมอบรถยนต์ไว้ในครอบครองและชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 2 โดยบริษัท จ.ยินยอมและไม่โต้แย้งคัดค้าน แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต
โจทก์ได้ซื้อรถยนต์คันพิพาทโดยได้ชำระราคาและรับมอบการครอบครองโดยสุจริตแล้ว ต่อมาได้มีการจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาทให้เป็นชื่อของจำเลยที่ 3 โจทก์และจำเลยที่3 ต่างอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาท กรณีจึงเป็นเรื่องบุคคลหลายคนต่างเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน ต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 โจทก์ย่อมมีสิทธิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าจากจำเลยที่ 1 หนึ่งคันจำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์คันพิพาทจากบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด ส่งมอบแก่โจทก์และโจทก์ชำระราคาแล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงจะทำการโอนทะเบียนให้ภายในวันที่ 26 มกราคม 2521 แต่ผิดนัดและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 กลับโอนทะเบียนรถยนต์คันพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ขอให้พิพากษาแสดงว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนสัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้จำเลยร่วมกันโอนทะเบียนแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความผูกพันใด ๆ กับโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า รถคันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 โดยซื้อจากบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด แล้วให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไป จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 3 ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธินำรถยนต์คันพิพาทไปขายให้โจทก์โจทก์ครอบครองรถยนต์คันพิพาทโดยไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทแก่จำเลยที่ 3

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ซื้อรถยนต์คันพิพาทก่อนจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 3 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนแก่จำเลยที่ 3 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ตกลงซื้อรถยนต์คันพิพาทจากห้างฯ จำเลยที่ 1 โดยผ่านจำเลยที่ 2 ตัวแทนเป็นผู้ติดต่อในราคา 147,500 บาท และเป็นผู้นำรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด ส่งมอบให้โจทก์รับไว้ในครอบครองตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2521 โจทก์ได้ชำระเงินค่ารถแก่ห้างจำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วในวันที่มีการส่งมอบ ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อรถยนต์คันพิพาทจากบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด ในราคา 146,000 บาท และได้จดทะเบียนในนามจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2521 ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันนี้จากจำเลยที่ 3 อีกต่อหนึ่ง แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ที่นำรถยนต์คันพิพาทออกจากบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด ในสภาพของรถที่ยังไม่มีหมายเลขทะเบียนประจำรถ ดังนี้ จึงต้องถือว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด มาแต่เดิมการซื้อรถของโจทก์นั้น โจทก์ได้ติดต่อซื้อจากจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันในเรื่องราคาและวางมัดจำไว้ส่วนหนึ่ง แต่ขณะนั้นสีของรถตามที่โจทก์ต้องการไม่มี จำเลยที่ 2 จึงนัดโจทก์ไปดูที่บริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด โจทก์ตกลงเลือกเอารถคันพิพาท เมื่อโจทก์ไปรับรถที่บริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัดจำเลยที่ 2 ก็ไปด้วย และเป็นผู้ติดต่อออกรถส่งมอบให้โจทก์รับไป ได้มีการชำระราคาส่วนที่ค้างให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยส่วนเรื่องทะเบียนรถจำเลยที่ 2 รับจะจัดการให้ภายหลัง เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับมอบกรรมสิทธิ์และเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถคันพิพาทโดยสงบและเปิดเผยเป็นแรมปี มีข้อติดขัดเพียงเรื่องทะเบียนของรถคันพิพาทเป็นชื่อของบริษัทจำเลยที่ 3 จึงได้มีการกล่าวหาจนเป็นเหตุให้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นคดีอาญาข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโจทก์บริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทมาแต่เดิมก็มิได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรืออ้างว่าโจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทมาโดยไม่ชอบอย่างไรอีกทั้งบริษัทจำเลยที่ 3 เองก็มิได้นำสืบหักล้างในข้อนำสืบเหล่านี้ของโจทก์ว่าการซื้อและการครอบครองรถคันพิพาทของโจทก์ไม่ชอบหรือไม่สุจริตอย่างไร การซื้อขายรถยนต์ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมจะโอนมายังผู้ซื้อในทันทีได้ การจดทะเบียนโอนรถยนต์ไม่ใช่แบบของนิติกรรมในการโอนกรรมสิทธิ์ของรถยนต์ ดังนั้น การที่ห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จัดการนำรถยนต์พิพาทออกจากบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด มาขายให้แก่โจทก์ โดยบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด ยินยอมและมิได้โต้แย้งคัดค้านสิทธิของโจทก์แต่ประการใดนั้น ต้องถือว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในรถคันพิพาทมาโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต

ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถคันพิพาท ไม่มีสิทธิที่จะโอนขายแก่ผู้ใด โดยอ้างหลักกฎหมายที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนนั้น เห็นว่าจะนำหลักกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีนี้มิได้ เพราะกรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ได้จัดการนำรถยนต์คันพิพาทออกมาจากบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด มาขายให้แก่โจทก์โดยบริษัทเจริญไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด ยินยอมและมิได้โต้แย้งคัดค้านสิทธิของโจทก์ แต่ประเด็นข้อสำคัญของคดีนี้อยู่ที่ว่า กรรมสิทธิ์ในรถคันพิพาทควรตกอยู่แก่ผู้ใดในระหว่างโจทก์กับบริษัทจำเลยที่ 3 อันเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนต่างเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกัน โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 ที่บัญญัติไว้ว่า “ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันไซร้ ท่านว่าทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคลใดบุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่น ๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทน และได้การครอบครองโดยสุจริต” มาใช้บังคับอันเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นมาอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ซื้อรถยนต์คันพิพาทและได้ชำระราคาและรับมอบการครอบครอง ซึ่งรับฟังได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามมาตรา 1303 แล้วตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2521 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2521 จึงได้มีการจดทะเบียนรถคันพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 ดังนี้ต้องถือว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 และกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทตกอยู่แก่โจทก์

พิพากษากลับเป็นว่า รถยนต์คันพิพาทตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันไปจัดการโอนทะเบียนรถคันพิพาทให้แก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อให้เจ้าพนักงานดำเนินการโอนให้แก่โจทก์ต่อไป ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3

Share