คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องและจำเลยฟ้องแย้งจะอุทธรณ์ฎีกาได้ เพียงใดหรือไม่ต้องแยกพิจารณาคนละส่วน ฟ้องโจทก์ระบุว่าอาวุธปืนพิพาทมีราคา 20,000 บาทในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์แต่เพียงว่าอาวุธปืนพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดก ฉะนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์จึงมีเพียง 20,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยก็ถือว่าไม่ชอบ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตามสัญญาเช่าซื้อที่ ส.ทำไว้ให้แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดินระบุว่าหากผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรมในระหว่างเช่าซื้อ ที่ดินที่เช่าซื้อนี้จะต้องตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518ซึ่งบัญญัติให้ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ฯลฯ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการออกกฎกระทรวง ตามกฎหมายมาตราดังกล่าว ส่วนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการ โอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2535 ซึ่งออกโดยอาศัย อำนาจตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่เพิ่งมีการประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาภายหลังที่ ส. ถึงแก่ความตาย แต่เมื่อสิทธิการเช่าซื้อที่ดินพิพาทได้ตกทอดแก่ทายาทของ ส.ทันทีเมื่อส. ถึงแก่ความตายก่อนระเบียบดังกล่าวประกาศใช้แล้ว ระเบียบดังกล่าวจึงนำมา บังคับใช้กับคดีนี้ไม่ได้ จำเลยที่ 1 มารดาของ ส. และจำเลยที่ 2 และที่ 3 บุตรของ ส.เป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกในสิทธิการเช่าที่ซื้อที่ดินร่วมกับ โจทก์ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2629 และตามพระราชบัญญัติ เพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายสาคร คงพิทักษ์จำเลยที่ 1 เป็นมารดานายสาคร จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรนายสาครที่เกิดจากนางมาลี คงพิทักษ์ นายสาครตายโจทก์ จำเลยทั้งสามตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกบางส่วนของนายสาครเสร็จแล้ว คงเหลือแต่อาวุธปืนลูกซอง 5 นัด 1 กระบอกราคา 20,000 บาท เงินสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายสาครที่ฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด 2 บัญชี เป็นเงินรวม 99,260.30บาท กับบ้าน 1 หลัง ที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันและทรัพย์สินอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสาม ต่อมาโจทก์ร้องต่อศาลขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลตั้งแล้วโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงแจ้งให้จำเลยทั้งสามส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวแล้วเพื่อแบ่งปันกัน หรือมิฉะนั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเงินส่วนแบ่งจากราคาอาวุธปืน 5,000 บาทและจากเงินฝากในฐานะเป็นสินสมรส 49,630 บาท และในฐานะทายาท 12,407 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 67,037 บาท แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 67,037 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดวันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า อาวุธปืนลูกซองพิพาทและบ้านตามฟ้องมิใช่ทรัพย์มรดก ส่วนเงินฝากตามฟ้องก็มิใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับนายสาคร แต่ทรัพย์มรดกของนายสาครมีที่ดินโฉนดเลขที่ 10235 และ 11878 และสิทธิการเช่าซื้อที่ดินเลขที่ 55 เนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 300,000 บาท ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งปันทรัพย์มรดกนายสาครให้แก่จำเลยทั้งสาม กลับเบียดบังยักยอกโอนเป็นของโจทก์เพียงผู้เดียว ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์จดทะเบียนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10235 และ 11878 ให้แก่จำเลยทั้งสามคนละส่วนเท่า ๆ กันกับโจทก์ ให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราแบ่งสิทธิการเช่าซื้อที่ดินเลขที่ 55 ให้แก่จำเลยทั้งสามคนละส่วนเท่า ๆ กันกับโจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถ้าไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้ให้โจทก์ใช้ราคา525,200 บาท แก่จำเลยทั้งสาม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและผู้ปกครองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกผู้ตายโดยตกลงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10235 และ 11878 ให้แก่โจทก์แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 10235 นายสาครได้จดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม จึงมีภาระติดพัน หากได้รับอนุญาตจากศาลโจทก์พร้อมที่จะโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินพิพาทโจทก์มีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อที่ดินพิพาทต่อจากนายสาคร จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินและสิทธิการเช่าซื้อที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบอาวุธปืนลูกซองให้โจทก์เพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ให้นำมาประมูลระหว่างทายาทแล้วนำเงินมาแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โจทก์ได้ 1 ส่วน จำเลยทั้งสามได้คนละ 1 ส่วนให้โจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 10235โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โจทก์ได้ 1 ส่วน ส่วนที่เหลือเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีกคนละ 1 ส่วน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้โจทก์ชำระเงิน 34,746.64 บาท แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นตามฟ้องและฟ้องแย้ง นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า อาวุธปืนพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายสาคร เห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องและจำเลยฟ้องแย้งจะอุทธรณ์ฎีกาได้เพียงใดหรือไม่ต้องแยกพิจารณาคนละส่วน เมื่อตามฟ้องโจทก์ระบุว่า อาวุธปืนพิพาทมีราคา 20,000 บาท ในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์แต่เพียงว่าอาวุธปืนพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกฉะนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์จึงมีเพียง 20,000 บาท เท่านั้น ต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะวินิจฉัยก็ถือว่าไม่ชอบและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับมรดกสิทธิการเช่าซื้อที่ดินเลขที่ 55 เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “หากผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรมในระหว่างเช่าซื้อ ฯลฯ ที่ดินที่เช่าซื้อนี้จะต้องตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งมาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ฯลฯ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” แต่ไม่ปรากฏว่ามีการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายมาตราดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2535 เอกสารหมาย จ.16 ข้อ 11 นั้น ก็ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่เพิ่งจะประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่นายสาครถึงแก่ความตาย ซึ่งสิทธิการเช่าซื้อที่ดินเลขที่ 55 นั้นได้ตกทอดแก่ทายาทนายสาครทันทีเมื่อนายสาครถึงแก่ความตายก่อนระเบียบดังกล่าวประกาศใช้แล้วดังนั้น ระเบียบดังกล่าวจึงนำมาบังคับใช้กับคดีนี้ไม่ได้เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นมารดานายสาคร ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นบุตรนายสาครจึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518มาตรา 39 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิรับมรดกสิทธิการเช่าซื้อที่ดินดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า สิทธิการเช่าซื้อที่ดินเลขที่ 55เป็นมรดกของนายสาครผู้ตายตกทอดแก่จำเลยทั้งสามและโจทก์คนละส่วนเท่า ๆ กัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share