คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงท้ากันให้ส่งพินัยกรรมและเอกสารหมาย ค.2ค.3ค.5ค.16ถึงค.19 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญของกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจเพื่อตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อในช่องลงชื่อ “ผู้ทำพินัยกรรม”(ส.ผู้ตาย)ตามเอกสารหมาย ร.11และร.12 กับตัวอย่างลายมือชื่อของส.ผู้ตายในเอกสารหมายค.2ค.3ค.5และค.16ถึงค.19ว่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ ตามคำท้าดังกล่าวมีความหมายว่า ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.11และร.12เปรียบเทียบกับลายมือชื่อ ของ ส.ผู้ตายในเอกสารหมายค.2ค.3ค.5และค.16ถึงค.19 ได้ทุกลายมือชื่อว่าเป็นของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ เมื่อปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ว่า ลายมือชื่อ ส.ในเอกสารหมายค.2ค.3ค.5และค.19บางส่วนสามารถตรวจพิสูจน์ได้ กับลายมือชื่ออีกบางส่วนในเอกสารหมาย ค.2ค.3ค.5และค.16ถึงค.19 ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ ในกรณีนี้จึงไม่อาจลงความเห็นยืนยันให้เป็นหลักฐานได้ ดังนี้ ผลการตรวจพิสูจน์จึงไม่เป็นไปตามคำท้าเพราะไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ทุกลายมือชื่อ จึงชอบที่ศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านต่อไป คดีนี้ได้สืบพยานผู้ร้องเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนผู้คัดค้านสืบพยานได้ 2 ปาก ต่อมาผู้คัดค้านแถลงงดสืบพยานที่เหลือภายหลังจากที่ทราบผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อตามที่คู่ความตกลงท้ากัน อันเป็นการแถลงเนื่องจากเข้าใจว่าผลการตรวจพิสูจน์ตรงตามคำท้า เมื่อปรากฏว่าผลการตรวจพิสูจน์ไม่เป็นไปตามคำท้า จะถือว่าผู้คัดค้านไม่ติดใจสืบพยานที่เหลือหาได้ไม่ จึงเห็นสมควรให้สืบพยานผู้คัดค้านที่เหลือต่อไป

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2537นางสาวสุนันท์ ตันจิตตกุล หรือตันจิตติกุล ถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุ ก่อนตายผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและนางสาวณัฎฐิมา บุญยานนท์ กับให้บุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่มีพี่น้องบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว นางสาวณัฎฐิมาให้ความยินยอมและไม่ประสงค์ที่จะร่วมเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม และผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลล้มละลายขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ตายไม่เคยทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องหรือนางสาวนัฎฐิมา ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในเอกสารท้ายคำร้องเป็นลายมือชื่อปลอม พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ และทรัพย์สินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมบางส่วนเป็นทรัพย์มรดกของนายจุยและนางกี ตันจิตตกุล ซึ่งเป็นตาและยายของผู้ตาย ดังนั้น ทรัพย์สินส่วนนี้รวมทั้งทรัพย์มรดกตามคำร้องจึงต้องนำมาแบ่งปันในระหว่างทายาท ผู้คัดค้านเป็นบุตรนายจุยและนางกีและเป็นน้าของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิได้รับมรดก ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลล้มละลาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องแล้วตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ระหว่างสืบพยาน คู่ความตกลงท้ากันให้ส่งพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.11 และ ร.12 กับเอกสารใบถอนเงินเอกสารหมาย ค.2(16 ฉบับ) ใบฝากเงินเอกสารหมาย ค.3 (27 ฉบับ)เช็คเอกสารหมาย ค.5 (28 ฉบับ) บัตรตัวอย่างลายมือชื่อเอกสารหมาย ค.16 การ์ดบันทึกรายการการฝากถอนเงินเอกสารหมาย ค.17หนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ค.18 และหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย ค.19 ให้ผู้เชี่ยวชาญของกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจเพื่อตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อในช่องลงชื่อ “ผู้ทำพินัยกรรม”(นางสาวสุนันท์ ตันจิตตกูล) ตามเอกสารหมาย ร.11 และ ร.12กับตัวอย่างลายมือชื่อของนางสาวสุนันท์ผู้ตายในเอกสารหมาย ค.2ค.3 ค.5 และ ค.16 ถึง ค.19 ว่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ โดยให้กองพิสูจน์หลักฐานตั้งคณะกรรมการผู้ตรวจพิสูจน์หรือผู้เชี่ยวชาญขึ้น 5 คน และถือความเห็นของเสียงส่วนใหญ่เกินกึ่งหนึ่งเป็นความเห็นของคณะกรรมการถ้าคณะกรรมการมีความเห็นว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันให้ถือว่าผู้คัดค้านยอมรับข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องผู้คัดค้านยอมแพ้คดี แต่หากคณะกรรมการมีความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันให้ถือว่า ผู้ร้องยอมรับข้อเท็จจริงตามคำร้องคัดค้าน ผู้ร้องยอมแพ้คดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ดำเนินการตามคำท้า ผลการตรวจพิสูจน์คณะกรรมการผู้ตรวจพิสูจน์หรือผู้เชี่ยวชาญรายงานว่า ลายมือชื่อช่องลงชื่อ “ผู้ทำพินัยกรรม”ในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.11 และ ร.12 เปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนางสาวสุนันท์ที่กาดอกจันสีน้ำเงินในเอกสารหมาย ค.2 ค.3 ค.5 และ ค.16 ถึง ค.19 ลงความเห็นว่ามีคุณสมบัติของการเขียน รูปร่างลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกันแต่เนื่องจากตัวอย่างลายมือชื่อ มีลักษณะการเขียนไม่คงที่ในกรณีนี้จึงความเห็นว่า น่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันแต่เปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนางสาวสุนันท์ที่กาดอกจันสีแดงในเอกสารดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า มีลักษณะการเขียนรูปร่างลักษณะของตัวอักษรคล้ายกัน แต่เนื่องจากมีตัวอักษรบางตัวเขียนคนละแบบกันประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อในกลุ่มนี้มีลักษณะการเขียนเป็นหลายแบบและไม่คงที่ในกรณีนี้จึงไม่อาจลงความเห็นยืนยันให้เป็นหลักฐานได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่าความเห็นของคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ว่าลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมในเอกสารหมาย ร.11 และ ร.12กับตัวอย่างลายมือชื่อของนางสาวสุนันท์ น่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ตรงตามคำท้าของคู่ความ ผู้ร้องจึงเป็นฝ่ายแพ้คดี พิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้อง และตั้งนางสมเสนอ วรรณพงษ์ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสุนันท์ ตันจิตตกุล ผู้ตาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกว่า คณะกรรมการผู้ตรวจตรวจพิสูจน์หรือผู้เชี่ยวชาญของกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจได้ตรวจพิสูจน์ตรงตามคำท้าของผู้ร้องและผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า ตามคำท้ามีความหมายว่าผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.11 และ ร.12 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อนางสาวสุนันท์ ตันจิตตกุล ผู้ตาย ในเอกสารหมาย ค.2 ค.3 ค.5และ ค.16 ถึง ค.19 ได้ทุกลายมือชื่อว่าเป็นของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ แต่ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ว่า ลายมือชื่อนางสาวสุนันท์ในเอกสารหมาย ค.2 ค.3 ค.5 และ ค.16 ถึง ค.19บางส่วนที่กาดอกจันสีน้ำเงินสามารถตรวจพิสูจน์ได้ โดยมีความเห็นว่ามีคุณสมบัติของการเขียนรูปร่างลักษณะของตัวอักษรคล้ายกันแต่เนื่องจากมีตัวอักษรบางตัวเขียนเป็นคนละแบบประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อในกลุ่มนี้มีลักษณะการเขียนเป็นหลายแบบและไม่คงที่ในกรณีจึงไม่อาจลงความเห็นยืนยันให้เป็นหลักฐานได้ดังนี้ ผลการตรวจพิสูจน์จึงไม่เป็นไปตามคำท้า เพราะไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ทุกลายมือชื่อ ชอบที่จะศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านต่อไป แต่เนื่องจากได้สืบพยานผู้ร้องเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนผู้คัดค้านสืบพยานได้ 2 ปาก ต่อมาได้แถลงงดสืบพยานที่เหลือภายหลังจากที่ทราบผลการตรวจพิสูจน์แล้วจึงอาจเป็นการแถลงเนื่องจากเข้าใจว่า ผลการตรวจพิสูจน์ตรงตามคำท้า เมื่อผลการตรวจพิสูจน์ไม่เป็นไปตามคำท้า จะถือว่าผู้คัดค้านไม่ติดใจสืบพยานที่เหลือหาได้ไม่จึงเห็นสมควรให้สืบพยานผู้คัดค้านที่เหลือต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานผู้คัดค้านต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share