คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตกลงจะโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับ ตามข้อตกลงนั้น ก็เป็นการตกลงที่จะโอนให้ใช้ทำมาหากินคือการใช้ทำประโยชน์นั่นเอง และการที่โจทก์ขอให้จำเลยร่วมกันชำระราคาที่ดินพิพาทเป็นค่าเสียหายที่ผิดสัญญา เมื่อการตกลงโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทวัตถุแห่งหนี้เป็นเรื่องการโอนตัวทรัพย์ ส่วนการตกลงให้เข้าใช้หรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท วัตถุแห่งหนี้มิได้เป็นเรื่องการโอนตัวทรัพย์ หากเพียงแต่ให้มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินพิพาทเท่านั้น จึงเป็นข้อตกลงหรือการกระทำที่มีลักษณะแตกต่างคนละอย่างกัน เมื่อตกลงโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันจะบังคับแต่เพียงให้เข้าใช้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมิได้ทำนองเดียวกัน ถ้าตกลงให้เข้าใช้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็จะบังคับให้โอนที่ดินพิพาทมิได้เช่นเดียวกัน และคำขอบังคับให้ชำระราคาที่ดินพิพาทเป็นค่าทดแทนตัวทรัพย์ ก็เป็นคนละอย่างต่างกันกับการบังคับให้ชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนองซึ่งกรณีหลังเป็นการคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว แม้จะเป็นการชำระหนี้ด้วยเงินเหมือนกันก็ตาม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของจำเลยที่ 1และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน แปลงที่ 1 ที่ดิน น.ส.3เลขที่ 258 เนื้อที่ 16 ไร่ 80 ตารางวา แปลงที่ 2ที่ดินโฉนดเลขที่ 10059 เนื้อที่ 10 ไร่ 56 ตารางวา แปลงที่ 3ที่ดินโฉนดเลขที่ 10125 เนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2529 จำเลยที่ 2 จำนองที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นเงิน 950,000 บาทโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 โดยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1ระหว่างปี 2531 ถึง 2533 ต้นปี 2532 จำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้จำนองทั้งหมดแก่ธนาคารแล้วจำเลยที่ 2จะโอนสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์ตกลงด้วยโดยชำระเงินไถ่ถอนจำนอง 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,259,555.84 บาทครบจำนวนหนี้จำนอง หลังจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ปลดจำนองให้แล้ววันที่ 9 มีนาคม 2532 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไปจดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่จำเลยที่ 1 ผัดผ่อนตลอดมาแล้วละทิ้งโจทก์ไป การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหายในปี 2535 ที่ดินแปลงที่ 1 มีราคา 1,383,750 บาท แปลงที่ 2มีราคา 2,625,000 บาท แปลงที่ 3 มีราคา 1,845,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนสิทธิครอบครองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง แก่โจทก์ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมโดยปลอดภาระติดพันเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินเนื้อที่ 8 ไร่ 40 ตารางวา 5 ไร่ 28 ตารางวา และ10 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ตามลำดับ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากไม่สามารถโอนสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ที่ดิน3 แปลงดังกล่าวแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนเท่ากับครึ่งหนึ่งของราคาที่ดิน 3 แปลง ตามราคาท้องตลาดในวันฟ้อง คิดเป็นเงิน 2,926,875 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยมีข้อตกลงยกที่ดิน 3 แปลงตามฟ้องให้แก่โจทก์ โจทก์ไถ่ถอนจำนองที่ดินที่จำเลยที่ 2 จำนองไว้เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยที่ 2ตกลงยกจำเลยที่ 1 ให้เป็นภริยาของโจทก์ หลังจากแต่งงานกันตามประเพณีแล้ว จำเลยทั้งสองจึงทราบว่าถูกโจทก์หลอกลวงเนื่องจากโจทก์มีภริยาและบุตรแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้ละทิ้งโจทก์ไปข้อตกลงตามที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นการให้หรือคำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินจะต้องมีการทำหนังสือจดทะเบียนจึงจะบังคับตามกฎหมายได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมิได้ตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนในการที่โจทก์ออกเงินไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์ออกเงินไถ่ถอนจำนองดังกล่าวก็ไม่ใช่เป็นการตอบแทนจำเลยที่ 2 ที่ยอมให้จำเลยที่ 1แต่งงานกับโจทก์ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองแต่เป็นการตอบแทนที่จำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองไม่สามารถให้โจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการผิดสัญญาจึงต้องคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 1,100,000.27 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทั้งสองตกลงจะยกที่ดินพิพาทให้โจทก์กับจำเลยที่ 1เป็นการตอบแทนในการที่โจทก์ออกเงินไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองตกลงจะโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและขอให้บังคับตามข้อตกลงนั้น ก็เป็นการตกลงที่จะโอนให้ใช้ทำมาหากินคือการใช้ทำประโยชน์นั่นเอง และการที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาที่ดินพิพาทเป็นค่าเสียหายที่ผิดสัญญาและที่ศาลชั้นต้นบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินก็เป็นการชำระหนี้ด้วยเงินตามคำขอบังคับของโจทก์ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นหรือเกินคำขอนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การตกลงโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้น วัตถุแห่งหนี้เป็นเรื่องการโอนตัวทรัพย์ส่วนการตกลงให้เข้าใช้หรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้นวัตถุแห่งหนี้มิได้เป็นเรื่องการโอนตัวทรัพย์ หากเพียงแต่ให้มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินพิพาทเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นข้อตกลงหรือการกระทำที่มีลักษณะแตกต่างคนละอย่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าตกลงโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันจะบังคับแต่เพียงให้เข้าใช้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมิได้ทำนองเดียวกัน ถ้าตกลงให้เข้าใช้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็จะบังคับให้โอนที่ดินพิพาทมิได้เช่นเดียวกัน และคำขอบังคับให้ชำระราคาที่ดินพิพาทเป็นค่าทดแทนตัวทรัพย์ เป็นคนละอย่างต่างกันกับการบังคับให้ชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนองซึ่งกรณีหลังเป็นการคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว แม้จะเป็นการชำระหนี้ด้วยเงินเหมือนกันก็ตาม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญา แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงจะโอนสิทธิครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนในการที่โจทก์ออกเงินค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ดังนั้นเมื่อโจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ตามฟ้องจึงต้องยกฟ้อง กรณีไม่เป็นประโยชน์ที่จะส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ

Share