คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4344/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำร้องของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดอ้างว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และผู้ร้องสอด เป็นการละเมิดต่อผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยตรงจากจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์กลับนำสิทธิของผู้ร้องสอดมายื่นฟ้องต่อศาลโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องสอด โดยข้ออ้างของผู้ร้องสอดนี้มีสภาพแห่งข้อหาเช่นเดียวกับคำฟ้องของโจทก์ ดังนี้ เป็นการที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองและโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดถือได้ว่าเป็นกรณีจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องสอดจึงชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ แต่คดีนี้ ผู้ร้องสอดเพิ่งมายื่นคำร้องสอด เมื่อเป็นเวลาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีเกือบ 2 ปี โดยโจทก์ได้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความและตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองจนเสร็จสิ้นแล้ว หากจะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดร้องสอดเข้ามา ก็จะทำให้กระบวนพิจารณาชักช้าและยุ่งยากขึ้นไปอีก ทั้งสิทธิของผู้ร้องสอดมีอยู่อย่างไร ผู้ร้องสอดก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเป็นอีกคดีต่างหากได้อยู่แล้วศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเครื่องมือและเครื่องจักร ตามรายละเอียดในเอกสารท้ายคำฟ้องให้แก่โจทก์หรือผู้รับเหมาก่อสร้างของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 134,589,182.22 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายในอัตราวันละ 2,994,909.51บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินค่าเสียหายที่ศาลจะได้พิพากษาให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม2537 โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างให้ผู้ร้องสอดก่อสร้างท่าเรือของโจทก์ซึ่งเป็นพื้นที่ดินโฉนดเลขที่ 427 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าเทววงษ์ อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งผู้ร้องสอดตกลงทำสัญญาและได้เริ่มทำการก่อสร้างท่าเรือหลังจากวันทำสัญญาทันที โดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ให้เข้าครอบครองในพื้นที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวเต็มพื้นที่ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชานายจ้าง หรือตัวการ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้แทน ได้ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานสั่งการและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และผู้ร้อง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ทำให้โจทก์และผู้ร้องได้รับความเสียหายโดยบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้างโครงการของโจทก์สั่งให้คนงานของผู้ร้องสอดหยุดทำการก่อสร้าง และทำการกวาดต้อนจับคนงานทั้งหมดแล้วกักบริเวณไว้โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ตั้งแต่เวลาประมาณ 10 นาฬิกา จนกระทั่งเวลาประมาณ 15 นาฬิกา จึงได้นำส่งสถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะสีชัง แล้วแจ้งข้อหาว่า “ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลายทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน) เพื่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขและร่วมกันเททิ้งกรวด ทราย ดินโคลน และสิ่งต่าง ๆ ลงในทะเลน่านน้ำไทยอันเป็นที่ประชาชนใช้ร่วมกันเป็นเหตุให้ตื้นเขิน ตกตะกอนสกปรก เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือโดยมิได้รับอนุญาต ทั้งได้ทำการยึด อายัดเครื่องมือและเครื่องจักรที่ใช้ทำการก่อสร้างของผู้ร้องสอดโดยจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการดังกล่าวได้ เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำโดยอุกอาจ ไม่ทำการตรวจสอบสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ ไม่ทำการตรวจสอบสิทธิในการดำเนินการก่อสร้างว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และดำเนินการจับกุมคนงานของผู้ร้องสอดโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย เป็นการร่วมกันทำละเมิดและเป็นการกระทำผิดอาญาต่อผู้ร้อง เป็นเหตุให้ผู้ร้องสอดได้รับความเสียหายโดยตรง ผู้ร้องสอดต้องเสียหายจากการที่ต้องหยุดงานนับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นวันละเมิด ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2537 รวม 3 วัน คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 4,629,310 บาท ค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือและเครื่องจักรที่ถูกยึดหรืออายัดเป็นเงินวันละ 96,950 บาท เป็นเวลา 20 วัน (วันที่ 6 ถึง 25 มิถุนายน 2537) รวมเป็นเงิน 1,939,000 บาท ค่าเสียหายจากการที่เครื่องมือและเครื่องจักรไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเนื่องจากการที่ต้องทำงานขนถ่ายวัสดุซ้ำซ้อนและไม่มีพื้นที่ทำงานเพียงพอนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 เป็นเวลา 30 วัน รวมเป็นเงิน 7,841,620 บาท ค่าเสียหายจากการที่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่โครงการของโจทก์บางส่วน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตลอดแนวเขตที่ดินเป็นเหตุให้การก่อสร้างล่าช้าและไม่อาจทำการก่อสร้างได้ นับแต่วันละเมิดถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 วันละ 1,807,000 บาท เป็นเวลา 34 วัน เป็นเงิน 36,958,000 บาท และวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 วันละ 1,339,830 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 26,796,600 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 78,164,530 บาท ซึ่งผู้ร้องสอดขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันทำละเมิดไปจนถึงวันยื่นคำร้องเป็นเงิน22,614,176.35 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 100,778,706.35 บาท ผู้ร้องสอดเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยตรงจากจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์กลับนำสิทธิของผู้ร้องสอดมายื่นฟ้องต่อศาลโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงต้องยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็น เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 100,778,706.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ร้องสอด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้ผู้ร้องสอดจะอ้างว่าเป็นผู้เสียหายมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองคดีนี้โดยตรง แต่โจทก์กลับนำสิทธิของผู้ร้องสอดมายื่นฟ้องต่อศาลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ก็ตาม แต่การที่โจทก์นำสิทธิของผู้ร้องสอดมาฟ้องต่อศาลตามที่ผู้ร้องสอดอ้าง ก็หามีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ไม่ จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องสอดจะต้องมาขอความรับรอง หรือคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) เพราะสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่กับจำเลยทั้งสองอย่างไร ก็ยังคงมีอยู่เช่นนั้น ผลของคำพิพากษาคดีนี้หามีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้ร้องสอดไม่ หากผู้ร้องสอดมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองคดีนี้อย่างไร ผู้ร้องสอดก็ชอบที่จะไปดำเนินการฟ้องเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่งต่างหาก หามีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้ไม่ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องและไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ คืนค่าขึ้นศาลชั้นร้องสอดให้แก่ผู้ร้องสอดทั้งหมด

ผู้ร้องสอดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ผู้ร้องสอดฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดอ้างว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และผู้ร้องสอด เป็นการละเมิดต่อผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยตรงจากจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์กลับนำสิทธิของผู้ร้องสอดมายื่นฟ้องต่อศาลโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องสอด โดยข้ออ้างของผู้ร้องสอดนี้มีสภาพแห่งข้อหาเช่นเดียวกับคำฟ้องของโจทก์ ดังนี้ เป็นการที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองและโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอด ถือได้ว่าเป็นกรณีจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องสอดจึงชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ แต่เนื่องจากคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2537 ผู้ร้องสอดเพิ่งมายื่นคำร้องสอดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 เป็นเวลาห่างกันเกือบ 2 ปี โดยปรากฏคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ได้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความและตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองจนเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในชั้นฎีกาผู้ร้องสอดก็มิได้โต้เถียงข้อเท็จจริงตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง จึงน่าเชื่อว่าโจทก์นำพยานเข้าสืบจนเสร็จไปแล้วจริง หากจะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดร้องสอดเข้ามา ก็จะทำให้กระบวนพิจารณาชักช้าและยุ่งยากขึ้นไปอีก ทั้งสิทธิของผู้ร้องสอดมีอยู่อย่างไร ผู้ร้องสอดก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเป็นอีกคดีต่างหากได้อยู่แล้ว จึงเห็นสมควรไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี

พิพากษายืน

Share