คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15657/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นและผู้สมัครรับรองความถูกต้องภายในกำหนดเก้าสิบวันหลังจากวันประกาศผลเลือกตั้ง ผลแห่งกฎหมายทำให้จำเลยในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายและรับรองความถูกต้อง แม้บทบัญญัติในมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่งตั้งสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้สมัครก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องกระทำการให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายรับรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งได้จัดทำขึ้น โดยมิได้ตรวจสอบถึงความถูกต้องตามความจริงและครบถ้วนตามกฎหมาย อีกทั้งต้องมีหน้าที่รับรองความถูกต้องด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43, 104 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 52, 143
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง, 104 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อปี 2548 มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2548 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดพรรคมหาชน และได้แต่งตั้งนางสาวรำไพ เป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้ง มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตการเลือกตั้งดังกล่าว ต่อมาจำเลยโดยนางสาวรำไพได้ยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายและหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการเลือกตั้งแต่ยื่นไม่ครบถ้วน โดยจำเลยไม่ยื่นบัญชีแสดงการรับจ่ายเงินสดและเงินฝากธนาคาร และไม่ลงลายมือชื่อรับรองการจ่ายเงิน บัญชีแสดงรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง
มีปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาโต้แย้งประการแรกว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 อันเป็นกฎหมายที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในคดีนี้ได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทได้สิ้นสุดลงตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 เห็นว่า แม้จะมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็มีฐานะเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่มีประกาศแยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 การที่รัฐธรรมนูญดังกล่าวสิ้นสุดลง จึงหามีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ยังไม่สิ้นสุดลง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยได้แต่งตั้งให้นางสาวรำไพ เป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้ง โดยมอบหมายให้เป็นผู้ทำบัญชีแสดงรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง จำเลยไม่ทราบข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากการกระทำของนางสาวรำไพ จำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิด เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นและผู้สมัครรับรองความถูกต้องภายในกำหนดเก้าสิบวันหลังจากวันประกาศผลเลือกตั้งผลแห่งกฎหมายทำให้จำเลยในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายและรับรองความถูกต้อง แม้บทบัญญัติในมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่งตั้งสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้สมัครก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องกระทำการให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายรับรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งได้จัดทำขึ้นโดยมิได้ตรวจสอบถึงความถูกต้องตามความจริงและครบถ้วนตามกฎหมาย อีกทั้งต้องมีหน้าที่รับรองความถูกต้องด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share