แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีต่อกัน กรณีดังกล่าวจึงไม่จำต้องให้สมาชิกของโจทก์มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 36 บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานแทนลูกจ้างผู้นั้นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงเป็นการตัดสิทธิไม่ให้สหภาพแรงงานฟ้องคดีในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะ โจทก์มีวัตถุที่ประสงค์ตามข้อบังคับ ข้อ 5 (1) ว่า เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (2) กำหนดให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงานและที่ประชุมใหญ่มีมติให้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นไปตามมาตรา 103 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องแทนสมาชิกของโจทก์ได้
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 เป็นเพียงข้อกำหนดให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยทางผู้แทนทั้งหลายที่เรียกว่าคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ได้มีมาตราอื่นใดของพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับว่าสหภาพแรงงานจะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการทุกคน เมื่อข้อบังคับของโจทก์ได้กำหนดเรื่องการเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกไว้ใน ข้อ 20 ว่า คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติของที่ประชุม และเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก… และเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการ ในข้อ 27 วรรคสาม ว่า … การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก…การที่โจทก์มีกรรมการทั้งหมด 11 คน แม้ขณะฟ้องกรรมการโจทก์จะเหลืออยู่เพียง 8 คน ก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมากตามข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจโดยชอบที่จะมอบอำนาจให้ ส. หรือ ท. หรือ น. ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจได้ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเบี้ยขยันและโบนัสให้แก่สมาชิกของโจทก์ตามบัญชีรายชื่อสมาชิกและจำนวนเงินท้ายคำฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์จดทะเบียนกรรมการไว้ 11 คน ตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนกรรมการ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2550 โจทก์กับจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยไม่จ่ายเบี้ยขยันและโบนัสประจำปี 2552 ให้แก่สมาชิกของโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว วันที่ 27 มกราคม 2553 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2553 มีมติให้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวตามบันทึกรายงานการประชุม โจทก์จึงมอบอำนาจให้นางสาวสำนาง หรือนางสาวทองเพียร หรือนางสาวนิตยา ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ แล้ววินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 36 บัญญัติให้นายจ้างหรือลูกจ้างจะมอบอำนาจให้สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ดำเนินคดีแทนก็ได้ หมายความว่าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สมาชิกของโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้ด้วยตนเองหรือจะมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทนก็ได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ปรากฏว่าสมาชิกของโจทก์มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทน อีกทั้งข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 23 คณะกรรมการโจทก์ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการฟ้องคดีแทนสมาชิก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนสมาชิกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีต่อกัน กรณีดังกล่าวจึงไม่จำต้องให้สมาชิกของโจทก์มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 36 ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานแทนลูกจ้างผู้นั้นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงเป็นการตัดสิทธิไม่ให้สหภาพแรงงานฟ้องคดีในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะ โจทก์มีวัตถุที่ประสงค์ตามข้อบังคับ ข้อ 5 (1) ว่า เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (2) กำหนดให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงาน และที่ประชุมใหญ่มีมติให้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นไปตามมาตรา 103 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องแทนสมาชิกของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 เป็นเพียงข้อกำหนดให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยทางผู้แทนทั้งหลายที่เรียกว่าคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ได้มีมาตราอื่นใดของพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับว่าสหภาพแรงงานจะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการทุกคน เมื่อข้อบังคับของโจทก์ได้กำหนดเรื่องการเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกไว้ ในข้อ 20 ว่า คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับและมติของที่ประชุมและเป็นผู้แทนสหภาพแรงงาน ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก… และเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการ ในข้อ 27 วรรคสาม ว่า … การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก…การที่โจทก์มีกรรมการทั้งหมด 11 คน แม้ขณะฟ้องกรรมการโจทก์จะเหลืออยู่เพียง 8 คน ก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมากตามข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจโดยชอบที่จะมอบอำนาจให้นางสาวสำนาง หรือนางสาวทองเพียร หรือนางสาวนิตยา ดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจได้ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เนื่องจากคดียังมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องจ่ายเบี้ยขยันและโบนัส พร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องของโจทก์หรือไม่ เพียงใด แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นอื่นแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี