คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินบางส่วนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1501 โดยชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว นางขำมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยตลอดมา แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนต่อเจ้าหน้าที่ นางขำเสียชีวิตเมื่อปี 2533 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2541 จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทได้รับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองแบ่งโอนที่ดินส่วนที่โจทก์ซื้อจากนางขำ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่ดินเฉพาะส่วนของหน้งสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หรือให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาโนนแดง รังวัดแบ่งแยกออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แยกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนางขำเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และนางขำลงซื้อในสัญญาโดยไม่มีพยาน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางขำและคู่สัญญามิได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาจึงไม่สมบูรณ์และไม่มีผลตามกฎหมาย เป็นโมฆะ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่า 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบว่านางขำถึงแก่ความตายตั้งแต่ปี 2533 จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทตามแผนที่เอกสารหมาย จ. 2 แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2521 โจทก์กับนางขำ เทินสระเกษ ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 มีข้อตกลงว่า โจทก์จะให้นางขำไปทำการโอนที่ดินพิพาทเมื่อใด นางขำมิได้ขัดข้อง โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินจำนวน 20,000 บาท ให้นางขำครบถ้วนแล้ว นางขำได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เข้าครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2521 ต่อมาปี 2533 นางขำถึงแก่ความตายโดยยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2541 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนางขำได้รับโอนมรดกที่ดินพิพาท ตามสารบาญจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.5 จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากนางขำเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลา 8 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความและโจทก์มิได้อุทธรณ์ข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงพิพากษาเกินกว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้นั้นพิเคราะห์แล้วตามคำให้การของจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของนางขำเจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จะต้องฟ้องร้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้ถึงความตายของนางขำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์อยู่ในฐานะผู้มีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 และคดีไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบ โจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนที่ดินตามสัญญา แม้ว่าคดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 241 ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์กับนางขำได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วนนางขำได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เช่นนี้ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ที่กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนางขำไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้ด้วย ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นการวินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share